Author : แก้ว กังสดาลอำไพ.
Source : ฉลาดซื้อ 26, 229 (มี.ค. 2563) 64-66
Abstract : ใยอาหารเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี ซึ่งมีงานวิจัยหลายเรื่องกล่าวถึงศักยภาพบิวทิเรตในใยอาหาร ที่สามารถป้องกันและบำบัดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และกำจัดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และยังพบว่าบิวทิเรตช่วยชะลอภาวะการอักเสบของสมองที่เพิ่มขึ้นตามอายุ ดังนั้นการกินอาหารที่อุดมด้วยใยอาหารเฉพาะส่วนนิ่มของใบผัก เช่น บรอกโคลี คะน้า ผักกาดขาว รวมถึงถั่ว ข้าวโอ๊ต แตงต่างๆ ผลไม้ตระกูลส้มและขนมปังธัญพืชไม่ขัดสี ช่วยให้สมองมีสุขภาพที่ดีได้ สำหรับส่วนแข็งของใบผัก เช่น ก้าน มีประโยชน์ช่วยให้การขับถ่ายสะดวกและการจับสารพิษที่อาจก่ออันตรายแก่ลำไส้ใหญ่ออกไปจากร่างกายได้อีกด้วย.


Subject : อาหาร. ใยอาหาร. ใยอาหาร – แง่โภชนาการ.

Author : โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ.
Source : ฉลาดซื้อ 26, 229 (มี.ค. 2563) 23-31
Abstract : น้ำพริกหนุ่มเป็นอาหารประจำภาคเหนือที่บูดเสียง่าย เก็บได้ไม่นาน ดังนั้นการถนอมน้ำพริกหนุ่มให้อยู่ได้นานผู้ผลิตอาจใช้วัตถุกันเสียเป็นตัวช่วยในการยืดอายุการเก็บรักษา ซึ่งวัตถุกันเสียที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมี 2 ประเภท คือ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และกรดซอร์บิก (Sorbic acid) โดยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ.2561 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่5) ได้อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) ไว้ไม่เกิน 500 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม และวัตถุกันเสียประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic acid) ไว้ไม่เกิน 1000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ในหมวดอาหารประเภทเครื่องปรุงรส ซึ่งหากใช้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ดังนั้นผู้ผลิตควรใช้วัตถุกันเสียในปริมาณที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะมีความปลอดภัย.


Subject : อาหาร. วัตถุกันเสีย. น้ำพริกหนุ่ม.

Author : ธาวิดา ศิริสัมพันธ์.
Source : เทคโนโลยีชาวบ้าน 32, 718 (1 พ.ค. 2563) 86-88
Abstract : ผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาสลิด “สลิดกัน” เป็นผลิตภัณฑ์ของบจก.ผลิตอาหารธรรมชาติ ซึ่งมีการตรวจมาตรฐานฟาร์ม GAP ไม่ใช้สารเคมีได้รับมาตรฐานอาหารและยา มาตรฐาน GMP และ HACCP คือการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร ขั้นตอนการแปรรูปปลาสลิดแดดเดียว ให้เลือกปลาสลิดมาล้างทำความสะอาด และน็อกน้ำแข็ง จากนั้นนำไปขอดเกล็ดและตัดหัวปลา ควักไส้ปลาออก แล้วนำไปดองเกลือเป็นเวลา 2 คืน จึงนำไปตากแดด 1 วัน ในโซลาร์โดมควบคุมอุณหภูมิก่อนนำไปบรรจุในถุงสุญญากาศแล้วนำไปแช่แข็ง เมื่อผู้บริโภคซื้อแล้วสามารถนำไปแช่ในตู้เย็นได้นาน 6 เดือน.


Subject : ปลาสลิด. ปลาสลิด – การแปรรูป.

Author : อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช.
Source : เทคโนโลยีชาวบ้าน 32, 719 (15 พ.ค. 2563) 36-37
Abstract : ผักแขยงเป็นพืชในวงศ์ SCROPHULARIACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Limnophila geoffrayi Bonati มีชื่อเรียกอื่นหลายชื่อ เช่น ผักพา มะออม กะแยง มีชื่อภาษาจีนว่า จุ้ยหู่โย่งหรือสุ่ยฝูโหยง ผักแขยงนิยมนำมาประกอบอาหาร รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก ใช้ปรุงรส แต่งกลิ่นอาหาร เช่น แกงอ่อม แกงหน่อไม้ แกงส้ม ผักแขยง 100 กรัม ให้พลังงาน 32 กิโลแคลอรี มีเส้นใย 1.5 กรัม โปรตีน 1.2 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.2 กรัม ฟอสฟอรัส 33 มิลลิกรัม แคลเซียม 55 มิลลิกรัม เหล็ก 27 มิลลิกรัม วิตามินเอ 3823 IU มีวิตามินบี1 บี2 บี3 และวิตามินซี ผักแขยงมีสรรพคุณป้องกันเส้นเลือดตีบตัน แก้ไข้ แก้ร้อนใน ขับลม เป็นยาระบายอ่อน ๆ แก้อาการคัน มีสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ มีน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์ใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องสำอางและใช้เป็นสารไล่แมลงได้ ผักแขยงมีสารจำพวกแคลเซียมออกซาเลตสูง อาจสะสมในร่างกายที่กระเพาะปัสสาวะ ไต ทำให้เป็นนิ่วได้ ทั้งนี้ควรไปประกอบอาหารที่มีรสเปรี้ยว จะช่วยละลายสารออกซาเลตได้.


Subject : ผัก. ผักแขยง. ผักแขยง – แง่โภชนาการ.