Author : อิรฟัน แวหะมะ.
Source : HALAL INSIGHT ISSUE 31 (Fed. 2020) 10-11
Abstract : อาหารที่ใช้น้ำมันทอด เช่น ไก่ทอด กล้วยทอด ปาท่องโก๋ เป็นอาหารที่ผ่านความร้อนสูงและน้ำมันมีการทอดซ้ำหลายครั้ง น้ำมันทอดซ้ำมีสารอันตราย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสารประกอบโพลาร์ซึ่งก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และสารโพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดร์คาร์บอนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ไม่สมบูรณ์พบในเขม่าควันไฟ ส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งหรือย่าง อาหารทอดกรอบ และควันที่เกิดจากการทอดซ้ำของน้ำมัน สหภาพยุโรปจึงออกมาตรการทางกฎหมายกำหนดปริมาณสารเบนโซ (เอ) ไพรีนในน้ำมันและไขมันที่ใช้เป็นอาหารให้มีได้ไม่เกิน 2 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม สำหรับประเทศไทยยังไม่มีข้อกำหนดปริมาณสารโพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอนในน้ำมันหรือไขมันที่ใช้เป็นอาหารแต่อย่างใด ทั้งนี้ การหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีโอกาสปนเปื้อนสารพิษทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว สามารถสังเกตเบื้องต้นได้จากน้ำมันที่ใช้ทอดไม่ควรมีสีดำคล้ำเพราะการทอดซ้ำหลายครั้ง เพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันโรคที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และมะเร็งในอนาคต.

Subject : Poylycyclic aromatic hydrocarbons. โพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน. น้ำมันและไขมัน. การปรุงอาหาร (น้ำมันและไขมัน). อาหาร.

Author : กุณฑิรา สาแล และ นารีญา วาเล๊าะ.
Source : HALAL INSIGHT ISSUE 31 (Fed. 2020) 8-9
Abstract : วัตถุเจือปนอาหาร (Food additive) คือสารประกอบใดๆ ที่เติมลงในอาหารเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆกัน ซึ่งจัดอยู่ในฐานข้อมูลที่เรียกว่า E-Number โดยจำแนกออกเป็นหมวดหมู่ตามรหัส ได้แก่ สารสี (Colors) สารกันเสีย (Preservatives) สารต้านออกซิเดชัน (Antioxidants) สารควบคุมกรด (Acidic regulators) สารเพิ่มความหนืด (Thickeners) สารเพิ่มความคงตัว (Stabilizers) สารอิมัลซิไฟเออร์ (Emulsifiers) สารเพิ่มกลิ่นและรสชาติ (Flavour enhancers) และสารฆ่าเชื้อ (Antibiotics) เป็นต้น E-Number กำหนดโดยสหภาพยุโรปว่ามีความปลอดภัยสามารถใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไปได้แต่ทางด้านฮาลาลจำเป็นต้องมีการตรวจสอบสถานภาพของวัตถุดิบ จึงมีการคิดค้นระบบ H-Number (Halal numbers) โดยอ้างอิงระบบ E-Number เพื่อให้ผู้ประกอบการผู้ตรวจรับรองฮาลาล และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว วัตถุเจือปนอาหารที่พบได้ในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่าง สีคาร์มีน (Carmine : E120) ซึ่งเป็นสีที่ได้จากแมลงในทางศาสนาอิสลามแนะนำให้หลีกเลี่ยงโดยให้ใช้สารตัวอื่น เช่น สีคาร์โมอิซิน (Carmoisine : E-122) ซึ่งได้จากการสังเคราะห์ทางเคมี เคอร์คูมิน (Curcumin-E100) สีผสมอาหารจากขมิ้น ให้สีเหลืองส้ม ได้มาจากการสกัดขมิ้น โดยการสกัดจากพืชได้รับอนุญาตจากสำนักจุฬาราชมนตรีให้ใช้ได้.


Subject : วัตถุเจือปนในอาหาร. อาหาร -- การเจือปนและการตรวจสอบ. การปนเปื้อนในอาหาร. อาหาร.

Source : ฉลาดซื้อ 25, 220 (มิ.ย. 2562) 32-39
Abstract : โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกแบบสูตรปกติ จำนวน 25 ยี่ห้อ ตั้งแต่ระดับแมส พรีเมียมแมส และพรีเมียมที่มีจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ปริมาณสารกันบูดและโลหะหนักในเม็ดไข่มุก พบว่ายี่ห้อที่ให้ปริมาณพลังงานทั้งหมดต่อแก้วน้อยที่สุดคือ 157 กิโลแคลอรี (kcal) เทียบกับข้าวสวย 1.96 ทัพพี ส่วนยี่ห้อที่ให้พลังงานต่อแก้วมากที่สุดคือ 769 กิโลแคลอรี (kcal) เทียบกับข้าวสวย 9.61 ทัพพี สำหรับยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลต่อแก้วน้อยที่สุด คือ 16 กรัม เทียบกับน้ำตาล 4 ช้อนชา และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดคือ 74 กรัม เทียบกับน้ำตาล 18.5 ช้อนชา นอกจากนี้ ผลทดสอบหาปริมาณโลหะหนักในเม็ดไข่มุก ไม่พบโลหะหนักประเภทตะกั่ว (Lead) ในทุกตัวอย่าง ส่วนสารกันบูด พบว่าเม็ดไข่มุกทุกตัวอย่างตรวจพบสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic acid) ในปริมาณแตกต่างกัน และตรวจพบกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) 22 ตัวอย่าง ซึ่งสารกันบูดทั้งสองประเภทที่พบไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน การบริโภคชานมไข่มุกอาจทำให้เกิดพลังงานส่วนเกิน เพราะมีน้ำตาล และแป้งจากเม็ดไข่มุก รวมถึงไขมันจากส่วนผสมที่เป็นนมหรือครีมเทียม หากเราบริโภคชานมไข่มุกอาจต้องไปลดปริมาณข้าวหรือแป้ง เพื่อไม่ให้เกิดพลังงานส่วนเกินมากกว่าที่ร่างกายเราต้องการ และหากสะสมจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น.

Subject : น้ำตาล. น้ำตาล -- แง่โภชนาการ. ชา. การปรุงอาหาร (ชา). อาหาร. เครื่องดื่ม.

Source : ฉลาดซื้อ 25, 220 (มิ.ย. 2562) 24-31
Abstract : โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพร่วมมือกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ จำนวน 12 ตัวอย่างในปี พ.ศ.2561 เพื่อทดสอบหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม พบว่าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่98 พ.ศ.2529 คือ ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ส่วนแคดเมียมไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศดังกล่าว จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์ มผช. เช่นกัน ทั้งนี้ จากการทดสอบซ้ำในปี พ.ศ.2562 จากตัวอย่างจำนวน 15 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่างและผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์หาสารโลหะหนักตะกั่วและแคดเมียม และเพิ่มการทดสอบหาปริมาณสารกันบูดกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกด้วย พบว่า ผลทดสอบหาปริมาณโลหะหนักทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และผลทดสอบแคดเมียมผ่านเกณฑ์ มผช. ส่วนผลทดสอบหาปริมาณสารกันบูด พบบางผลิตภัณฑ์ฉลากไม่ระบุว่ามีวัตถุกันเสีย แต่ผลทดสอบพบปริมาณกรดเบนโซอิกซึ่งไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คือไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และหลายผลิตภัณฑ์พบว่ามีปริมาณกรดเบนโซอิกในปริมาณไม่มากคือ ไม่ถึง 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม.


Subject : วัตถุกันเสีย. น้ำปลาร้า. น้ำปลาร้า -- ปริมาณแคดเซียม. น้ำปลาร้า -- ปริมาณตะกั่ว. อาหาร.