- รายละเอียด
- หมวด: บทคัดย่ออาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
- ฮิต: 2002
Author : นภัสสร มนทา
Source : วารสารเกษตร 33, 3 (ก.ย. 2560) 463-473
Abstract : สุขภาพมนุษย์กลายเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลจากตัวเลขของจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจทั่วโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น การบริโภคอาหารในลักษณะของอาหารเพื่อสุขภาพ (functional food) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง omega-3 ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาสุขภาพโดยการบริโภคสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จากการรายงานข้อดีของกรดไขมันโอเมกา (omega) 3, 6 และ 9 ในด้านการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้เป็นอย่างดี omega-3 เป็นกรดไขมันที่ทราบกันดีว่ามักพบในปลาทะเล แต่เมื่อไม่นานมานี้มีนักวิจัยรายงานว่าพบว่าในงาขี้ม้อน (Perilla frutescens) เป็นแหล่งกรดไขมัน omega-3 ที่มีศักยภาพสูงเช่นกัน โดยเฉพาะเมล็ดงาขี้ม้อนมีการรายงานว่าพบองค์ประกอบของ omega-3 สูง และเมื่อใช้เมล็ดงาขี้ม้อนและกากงาขี้ม้อน ร่วมในอาหารสัตว์ เช่น สุกร และไก่ พบว่าสามารถเพิ่ม omega-3 ในเนื้อสุกร ไก่เนื้อ และไข่ได้ และข้อดีของงาขี้ม้อนยังสามารถลดต้นทุนการผลิตสัตว์ ได้เนื้อที่มีคุณค่าสูงกว่าแหล่งโปรตีนในอาหารสัตว์ทดแทนแหล่งโปรตีนอื่นเช่น กากถั่วเหลือง นอกจากนี้เมล็ดงาขี้ม้อนยังมีสารยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทริปซินต่ำกว่ากากถั่วเหลืองอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีในการนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์
Subject : งาขี้ม้อน.
- รายละเอียด
- หมวด: บทคัดย่ออาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
- ฮิต: 2062
Author : ณัฐธญาญ์ ศรีสุวอ
Source : วารสารวิจัยและพัฒนา มจธ. 39, 3 (ก.ค.-ก.ย. 2559) 395-406
Abstract : งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของนมและอินูลิน ที่มีต่อสมบัติทางเคมีกายภาพของพุดดิ้งข้าว เสริมโพรไบโอติก โดยมีส่วนผสมของพุดดิ้งข้าว จำนวน 4 สูตร คือ นม น้ำ เติมและไม่เติมอินูลินลงในส่วนผสม และเสริมจุลินทรีย์โพรไบโอติกสารพันธุ์ Lactobacillus rhamnosus TISTR 047, L. rhamnosus TISTR 108 หรือ L. plantarum TISTR 951 และวิเคราะห์หาสมบัติทางเคมีกายภาพของพุดดิ้งข้าวเสริมโพรไบโอติก ได้แก่ ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมด ปริมาณของแข็งทั้งหมด ค่าความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณกรดทั้งหมด ปริมาณความชื้น ค่าความหนืดปรากฏ และค่าความคงตัว จากผลการทดลองพบว่า พุดดิ้งข้าวที่มีส่วนผสมของนมมีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ทั้งหมด มากกว่ากรณีส่วนผสมที่เป็นน้ำ และพุดดิ้งข้าวเสริม TISTR 108 และ TISTR 951 ในส่วนผสมที่เป็นนม มีปริมาณกรดทั้งหมดสูงกว่ากรณีส่วนผสมที่เป็นน้ำ การเติมอินูลินลงในส่วนผสมที่เป็นนมไม่เปลี่ยนแปลงปริมาณ ความชื้น (p > 0.05) แต่การเติมอินูลินลงในส่วนผสมที่เป็นน้ำทำให้พุดดิ้งข้าวที่เติม TISTR 108 และ TISTR 951 มีปริมาณความชื้นเพิ่มขึ้น และพบว่าตัวอย่างที่เติมนมและไม่เติมอินูลินเสริมด้วยจุลินทรีย์ TISTR 951 มีค่าความหนืด ปรากฏสูงที่สุด อีกทั้งนมและอินูลินไม่ทำให้ค่าความคงตัวของพุดดิ้งเสริม TISTR 047 และ TISTR 108 เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม นมและอินูลินช่วยส่งเสริมการรอดชีวิตของจุลินทรีย์โพรไบโอติกทั้ง 3 สายพันธุ์ในพุดดิ้งข้าวให้มีจำนวน มากกว่า 8.82 log CFU ต่อกรัม ตลอดเวลาการเก็บรักษา 21 วัน
Subject : พุดดิ้งข้าว. พุดดิ้งข้าว--วิจัย.
- รายละเอียด
- หมวด: บทคัดย่ออาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
- ฮิต: 2014
Author : กองบรรณาธิการวารสารยุติธรรม
Source : วารสารยุติธรรม 17, 6 (2560) 62-63
Abstract : โซเดียม เป็นส่วนผสมที่แฝงตัวมากับอาหารหลากหลายรูปแบบ ซึ่งโซเดียมมีประโยชน์ต่อระบบทำงานของร่างกาย เช่น ช่วยปรับสมดุลของเหลวและเกลือแร่ในร่างกาย ช่วยการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจ แต่หากกินมากเกินไป โซเดียมจะทำลายร่างกายได้ ทำให้เลือดเสียสมดุล แรงดันเลือดสูงขึ้น ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจขาดเลือด โรคกระดูกพรุน โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โซเดียมมีอยู่ในอาหารธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง อาหารแปรรูป และพบโซเดียมแฝงในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ผงชูรส ซุปก้อน ผงปรุงรส ผงฟู รวมถึงสารกันบูดในอาหารสำเร็จรูปผู้บริโภคที่ต้องการลดปริมาณโซเดียม ควรลดปริมาณเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ผงชูรส หลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารมักดอง อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง ขนมขบเคี้ยว จะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ ลดปัญหาหลอดเลือดอุดตัน ยืดอายุไตและไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคร้ายอื่นๆ ด้วย
Subject : โซเดียม. โซเดียม--แง่อนามัย.
- รายละเอียด
- หมวด: บทคัดย่ออาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
- ฮิต: 2334
Author : ศิริประภา เย็นยอดวิชา
Source : เทคโนโลยีชาวบ้าน 30, 658 (พ.ย. 2560) 68-69
Abstract : กล้าเชื้อปลาร้าชีวภาพพร้อมใช้ สำหรับเร่งกระบวนการหมักปลาร้าและกระบวนการผลิต เป็นการใช้เทคโนโลยีผลิตทางชีวภาพและวิศวกรรม เป็นผลงานที่ร่วมมือกัน 4 สถาบันการศึกษา ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร และคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งการหมักปลาร้าด้วยกล้าเชื้อปลาร้าชีวภาพ จะทำให้ได้ปลาร้าหมักภายใน 3-4 เดือน ทำให้ลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนในกระบวนการหมักปลาร้า ผลผลิตแปรรูปที่ได้จากปลาร้าหมักจากกล้าเชื้อชีวภาพพร้อมใช้ คือปลาร้าผงพร้อมใช้ในอาหารและปลาร้าฟูทรงเครื่อง หากผู้ประกอบการ กลุ่มแม่บ้านหรือเอสเอ็มอี สนใจความรู้ในการทำเมนูที่พัฒนาจากเทคโนโลยีดังกล่าว สามารถขอความอนุเคราะห์ไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีได้ หากจะนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ติดต่อที่ สำนักงานกองทุนสนับสุนนการวิจัยและสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
Subject : ปลาร้า. ปลาร้า--การแปรรูป. ปลาร้า--จุลินทรีย์.