ไขข้อสงสัย "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" จำเป็นแค่ไหนต่อสถานการณ์ "โควิด" ระบาดระลอกเมษายน 2564 ถ้าจะซื้อมาใช้ควรรู้หลักการวัดค่าดูยังไง ใช้งานยากง่ายแค่ไหน และเครื่องราคาเท่าไร เช็คที่นี่!

2-3 วันที่ผ่านมามีการแชร์ข้อมูลเรื่อง "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" กันอย่างแพร่หลายบนโลกออนไลน์ โดยต้นทางมาจากเพจ "Drama Addict" ที่ระบุว่า เครื่องนี้เป็นอุปกรณ์สำคัญในยุค "โควิด" ระบาด หากมีไว้ใช้ก็จะรู้เท่าทัน "อาการโควิด" ได้ง่ายขึ้น เข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากผู้ติดเชื้อในระลอกนี้ส่วนใหญ่เป็นคนอายุน้อย ป่วยแบบไม่แสดงอาการ แต่ในร่างกายกลับมีภาวะพร่องออกซิเจนแบบไม่รู้ตัว

ใครที่กำลังมองหา "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" ติดบ้านไว้สักเครื่อง ควรรู้หลักการทำงานของตัวเครื่องและวิธีวัดค่าว่าดูยังไง? พร้อมข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่ต้องรู้! กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมมาให้แล้ว ดังนี้

1. "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" คืออะไร?

เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เป็นอุปกรณ์วัดระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในกระแสเลือด โดยเครื่องนี้จะมีขนาดเล็ก รูปร่างเป็นคลิป สำหรับหนีบที่นิ้วตอนที่ใช้วัดระดับออกซิเจนในเลือด ขณะวัดไม่เจ็บและไม่มีแผล เครื่องนี้ใช้กันเป็นปกติในโรงพยาบาล และสามารถซื้อมาใช้ที่บ้านได้ด้วย โดยปกติแล้วจะใช้ในคนที่มีโรคประจำตัวทางด้านปอดหรือหัวใจ เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจล้มเหลว เป็นต้น

2. "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" ทำไมถึงจำเป็นในยุค "โควิด"

นพ.วิทวัส ศิริประชัย เจ้าของเพจ Drama-addict เคยให้ข้อมูลไว้ว่า การระบาดของ "โควิด-19" หากในสถานการณ์ที่ระบาดหนักมาก และคนไข้เยอะมากๆ แบบนั้นเตียงจะไม่พอ ต้องสงวนเตียงไว้ให้คนไข้ที่อาการหนัก

ทั้งนี้ มีบทเรียนจากทางอังกฤษและประเทศแถบยุโรปช่วงแรกๆ ของการระบาดที่มีคนตายเยอะมาก จากการกักตัวที่บ้าน เพราะจู่ๆ อาการก็ทรุดลงอย่างรวดเร็ว ส่ง รพ. ไม่ทัน เสียชีวิตที่บ้านหรือไปเสียชีวิตที่ รพ. หลายๆ เคสในบ้านเราก็มีอาการแบบนั้น เคสแบบนี้เรามีข้อมูลจากนักวิจัยที่ไปศึกษาการรายงานอาการของผู้ป่วย covid-19 จากทั่วโลก แล้วเจออะไรแปลกๆ อย่างหนึ่ง คือ

คนไข้จำนวนมาก แทบไม่มีอาการเหนื่อยเลย หรือมีอาการทางทางเดินหายใจน้อยมากๆ แทบจะปกติเลยก็ว่าได้ แต่พอไปวัดค่าออกซิเจนในเลือดพบว่ามันต่ำกว่าปกติมาก (ค่าปกติไม่ควรต่ำกว่า 95%) แต่คนไข้ที่ติดโควิดจำนวนมาก แม้ค่าออกซิเจนจะต่ำกว่าปกติมาก แต่ร่างกายเหมือนยังชิลๆ อยู่

แต่พออาการมากขึ้นถึงจุดหนึ่ง จู่ๆ คนไข้เหล่านี้ จะมีอาการเหนื่อยแบบรุนแรง จนระบบหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตในเวลาไม่นานหลังจากแสดงอาการ มีวารสารและเว็บไซท์ทางการแพทย์ต่างๆ ที่มีรายงานถึงอาการนี้ โดยเรียกอาการนี้ว่า "happy hypoxemia" หรือ "silent hypoxemia"

ดังนั้นสถานการณ์ตอนนี้ ถ้าพ่อแม่พี่น้องบ้านไหนมีเคสเสี่ยงสงสัยติดโควิด ที่ยังต้องกักตัวที่บ้านหรือที่ hospitel หากเรามีอุปกรณ์วัดค่าออกซิเจนในเลือดติดตัวไว้ ใช้ร่วมประเมินด้วยอีกอย่างนึง ถ้าค่ามันลดลงผิดปกติแม้จะยังไม่เหนื่อยก็รีบติดต่อแพทย์ เพื่อประเมินอาการทันที อาจจะช่วยชีวิตคนไทยได้มากขึ้นจากการระบาดระลอกนี้
2. "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" หลักการทำงานเป็นยังไง?

เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วมีหลักการการทำงาน จะปล่อยคลื่น 2 คลื่นในระยะเวลาเดียวกัน และมีหลักการทำงาน 2 หลัก คือ

2.1 การแยกฮีโมโกลบินที่รวมกับออกซิเจน และไม่รวมกับออกซิเจน

2.2 อีกหลักหนึ่งคือแยกฮีโมโกลบินที่อยู่ในเม็ดเลือดแดงได้ โดยนอกจากจะแยกออกซิเจนได้ดีแล้ว ก็ยังใช้ฮีโมโกลบินในการรับแสงสีแดงที่ใช้ในการอ่านค่าออกซิเจนด้วย

หากศึกษาให้ลึกลงไปอีกจะพบว่าหลักการทำงานของเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว แบ่งเป็นขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 : เมื่อหนีบไว้ที่บริเวณปลายนิ้วมือใดนิ้วมือหนึ่ง ด้านบนของที่วัดออกซิเจนปลายนิ้วจะปล่อยรังสีที่มีสีแดงลงมาที่ช่องด้านล่าง ซึ่งจะส่องผ่านฮีโมโกลบินด้วย โดยส่องจากด้านบนของเครื่องวัดทะลุนิ้วมือไปยังส่วนล่างของเครื่องวัด

ขั้นตอนที่ 2 : จากนั้นแสงสีแดงจะเริ่มตรวจจับค่าออกซิเจนในเลือด หรือฮีโมโกลบินได้แล้ว แล้วประมวลผล ซึ่งผลตรวจนั้นก็จะไปขึ้นแสดงผลทันทีที่หน้าจอของตัวเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ซึ่งตัวเครื่องนั้นก็จะบอกค่าออกซิเจนที่มีทั้งหมด พร้อมบอกอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น ทำให้ทราบค่าออกซิเจนในเลือด โดยใช้เวลาไม่นาน

3. "เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว" ช่วยได้ยังไงหากติดเชื้อโควิด?

นายแพทย์ศุภโชค รัศมีมงคล ได้ให้ข้อมูลผ่านบทความวิชาการใน "supachokclinic" ไว้ว่า โดยปกติแล้ว ภาวะที่ทำให้ค่าออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงเป็นได้ตั้งแต่ โรคทางปอด โรคหัวใจ ภาวะอ้วน หรือคนที่สูบบุหรี่จัดๆ ก็ทำให้ค่านี้ลดต่ำลงได้

สำหรับผู้ที่ติดโควิด แต่ไม่มีอาการมากนัก (ปกติเป็นผู้ที่สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว และอายุไม่มาก) และจำเป็นต้องรักษาตัวที่บ้านหรือที่พัก เช่น โรงพยาบาลเตียงเต็ม หรือบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดจะเป็นอุปกรณ์ตัวแรกๆ ที่ช่วยบอกว่าค่าความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดต่ำลงหรือยัง ซึ่งเป็นค่าที่บอกว่าเราอาการหนักขึ้น ควรที่จะต้องแจ้งทางโรงพยาบาลให้มาดูแลหรือให้เราเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้แล้ว

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 28 เมษายน 2564 [https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/934781]