รู้ไหมว่าเหยี่ยวตัวเล็กๆ สามารถอพยพไกลหลายร้อยกิโลเมตรได้โดยไม่ต้องกระพือปีก เพราะมีตัวช่วยให้ร่อนไปได้ไกลโดยไม่เปลืองพลังงาน คือ กระแสลมร้อนที่เกิดจากพื้นดิน

กลไกที่สำคัญในการอพยพของเหยี่ยวคือ “กระแสลมร้อน” ซึ่งเมื่อพื้นดินได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากเพียงพอ อากาศบริเวณนั้นจะอุ่นขึ้นและบิดเป็นเกลียวขึ้นที่สูง เรียกว่า “แท่งกระแสลมร้อน” (Thermal)
แท่งกระแสลมร้อนนี้สามารถยกตัวเหยี่ยวให้ลอยสูงขึ้นได้ เมื่อสูงถึงระดับที่ต้องการเหยี่ยวจะร่อนออกจากแท่งกระแสลมร้อนไปยังทิศทางเป้าหมาย และสามารถร่อนจากแท่งลมร้อนหนึ่งไปยังอีกแท่งลมร้อนได้เรื่อยๆ ทำให้เหยี่ยวสามารถเดินทางหลายร้อยกิโลเมตร โดยไม่ต้องกระพือปีก เพื่อประหยัดพลังงาน
ข้อมูลจากการศึกษาเหยี่ยวและนกอพยพ ณ เขาดินสอ จ.ชุมพร ระบุว่า กรณีที่ฝนตก อุณหภูมิลดลง หรือบินผ่านทะเล จะไม่มีแท่งกระแสลมร้อน เหยี่ยวจึงต้องกระพือปีกเอง ดังนั้น เหยี่ยวจึงมักอพยพโดยใช้เส้นทางที่ผ่านแผ่นดินเป็นหลัก
ทั้งนี้ เขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-350 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางอพยพของเหยี่ยวเพื่อลงใต้ไปยังพื้นที่อาศัยช่วงฤดูหนาว (wintering grounds) ซึ่งมีงานวิจัยติดตามเส้นทางอพยพของเหยี่ยวที่สนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ทำให้ทราบถึงเส้นทาง พื้นที่หากินและแหล่งทำรังวางไข่ของเหยี่ยว

ที่มา : Manager online 11 ธันวาคม 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000118043]