ผลักดันงานวิจัยสู่ภาคเอกชน สร้างนวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย 100% จากแป้งมันสำปะหลัง ปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติกไทย ตอกย้ำแนวคิดนำนวัตกรรมต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิมเพิ่มมูลค่าให้สินค้าการเกษตร ตอบโจทย์ "เศรษฐกิจบีซีจี" ขานรับนโยบายรัฐบาลงดใช้ถุงพลาสติก
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากการที่ ครม. มีมติเห็นชอบการงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยเป็นนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้แผนที่นำทาง (road-map) การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 อว.จึงขานรับนโยบายในการคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะพลาสติก โดยปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติกในประเทศไทย ด้วยการวิจัยและพัฒนา "ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร”
ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร เป็นผลงานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปลี่ยนมันสำปะหลังโดยพัฒนาสูตรในห้องปฏิบัติการเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพและทำการผสมสูตรเพื่อเพิ่มสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับการนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบางและผลิต "ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร” สามารถย่อยสลายได้ภายใน 3 - 4 เดือน ซึ่งได้นำร่องใช้งานจริงแล้วในงานกาชาด ประจำปี 2562 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
นวัตกรรมที่วิจัยและพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยและภาคเอกชนของไทย ยังได้รับความร่วมมือจากภาคีอุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ และบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกย่อยสลายได้ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปฎิวัติรูปแบบถุงพลาสติก และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมืองไทย
ทั้งนี้ ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับใส่ขยะเศษอาหาร นับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการพัฒนาตอบโจทย์เศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy) ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดยการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ในการเพิ่มคุณค่าหรือการประยุกต์ใช้งานและการแปรรูปของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเกษตร เพื่อทำให้ผลผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิม มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ลดปริมาณถุงพลาสติก อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ไทย และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปัญหาของ “ขยะพลาสติก” ทั้งบนบกและในทะเล เป็นปัญหาที่สำคัญที่ทั่วโลกตื่นตัวกันมาก ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 10 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกสู่ท้องทะเลมากที่สุดในโลก สาเหตุมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) ซึ่งมีอัตราส่วนมากถึง 40% ของขยะพลาสติกทั้งหมด และจากนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 7 ชนิด ที่พบมากในทะเลของประเทศไทย ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระบวนการจัดการขยะมีความจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกเพื่อรวบรวมและขนส่งขยะ เช่น ขยะเศษอาหาร ไม่ให้ปนเปื้อนกับขยะที่รีไซเคิลได้และขยะอื่นๆ
"สวทช. โดย เอ็มเทค จึงได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีคอมพาวด์ย่อยสลายและถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร โดยนำแป้งมันสำปะหลังมาเป็นวัตถุดิบเริ่มต้น ตอบโจทย์บีซีจี (BCG) เพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและยกระดับรายได้ให้เกษตรกร พร้อมทั้งเตรียมถ่ายทอดเทคโนโลยีกล่าวให้แกภาคเอกชนต่อไป" ดร.ณรงค์กล่าว
ในด้านผู้ประกอบการภาคเอกชน นายเขม หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SMS Corporation) เปิดเผยว่า จุดเริ่มโครงการนี้มาจากความร่วมมือทางด้านงานวิจัยระหว่าง บ.เอสเอ็มเอส และ เอ็มเทค สวทช. และขยายผลให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในระดับอุตสาหกรรมซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรมฯ ในการเป่าขึ้นรูปถุง ทำให้ประชาชนผู้ใช้มั่นใจได้ว่า ถุงขยะสำหรับใส่ขยะเศษอาหารที่มีส่วนผสมของ TAPIOPLAST สามารถย่อยสลายทางชีวภาพ ไม่เหลือสิ่งตกค้างที่จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาแป้งมันสำปะหลังดัดแปรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ จนเกิดเป็นนวัตกรรมต้นแบบถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
"ในปัจจุบันนี้มีการใช้พลาสติกชีวภาพเพียง 1% ของการใช้พลาสติกทั้งหมด และอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่สำคัญ คือ ปัญหาในด้านต้นทุนการผลิต และประสิทธิภาพในการใช้งาน ทำให้การนำมาประยุกต์ใช้จริงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นบริษัทจึงได้คิดค้นพัฒนาแป้งมันสำปะหลังดัดแปรให้อยู่ในรูปของเม็ดพลาสติก เป็นรายแรกของประเทศไทยที่ตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง โดยถุงสำหรับใส่ขยะเศษอาหารนี้มีส่วนผสมของไบโอพลาสติกนี้มีชื่อว่า TAPIOPLAST สามารถทำให้เกิดการย่อยสลายได้ดีขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อใช้ TAPIOPLAST เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ย่อยลายทางชีวภาพหลากหลายชนิด รวมถึงถุงเพาะชำกล้าไม้ จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และราคาลดลง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น ทำให้ขยายการใช้ในวงกว้างประกอบกับการจัดการขยะที่ถูกวิธี" นายเขมระบุ
ที่มา : Manager online 9 ธันวาคม 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000117526]