หลังจบงานอีเวนต์ใดก็ตาม สิ่งตามมาด้วยเสมอ คือ “ขยะ” ของผู้คนร่วมงานที่มีทั้งในถังขยะและอาจจะล้นออกมาอยู่นอกถัง หรือตกอยู่เกลื่อนบริเวณพื้นที่จัดงาน
ขยะถูกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดและหน่วยงานรักษาความสะอาดมารับช่วงต่อ ซึ่งแต่ละงานคงไม่มีใครรู้หรอกว่า กองขยะสารพัดประเภทในงานอีเวนต์เหล่านั้นจะไปตกค้างอยู่ที่ไหนบ้าง
“แต่จะไม่เกิดขึ้นที่งานฟุตบอลประเพณีจุฬาลงกรณ์-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 ณ สนามศุภชลาศัย ในวันอาทิตย์ที่ 8 กุมภาพันธ์นี้”
เพราะคนจัดงานยืนยันถึงกระบวนการจัดการขยะแต่ละประเภทมีเส้นทางไปต่ออย่างชัดเจน จึงแทบไม่เหลือขยะตกค้างมาก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
“ขยะ” ในงานฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 74 จะมีตั้งแต่ เศษอาหาร ภาชนะ บรรจุภัณฑ์ ขยะจากขบวนพาเหรด หรือบนแสตนด์ ขยะพวกนี้จะได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม และเราจะทำให้ขยะเหล่านี้กลับมาสร้างประโยชน์สูงสุดในแต่ละวงจร
.”เศษอาหาร” ของกินเหลือเททิ้งแล้วจะไปไหน หลังจากถูก “แยก” เรียบร้อยแล้ว จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อ โดยฝ่ายกายภาพ จุฬาฯ จะส่งต่อให้เกษตรกรเพื่อเข้าสู่กระบวนการหมัก ทำปุ๋ย ปลูกต้นไม้ และทำเป็นอาหารสัตว์ต่อไป แต่สิ่งที่ควรเป็นสำหรับทุกคน คือไม่ทิ้งสิ่งของที่ไม่สามารถเป็นอาหารได้ เช่น ไม้เสียบ ถาดใบตอง และกล่องชานอ้อย ลงไปรวมกับเศษอาหารในขณะที่แยก
“แก้วไบโอ” (Bio-Compostable) วัสดุอีกหนึ่งชิ้นที่เป็นกิมมิกภายในงาน ซึ่งจริงๆ ได้ถูกนำมาใช้แทนบรรจุภัณฑ์ในมหาวิทยาลัยแล้ว เป็นแก้วที่ผลิตจากเส้นใยพืชระยะสั้น (อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง) มีลักษณะพิเศษคือ ย่อยสลายได้ภายใน 4-6 เดือน (ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม) โดยไม่มีสารเคมีตกค้าง
แก้ว Bio-Compostable ที่ถูก “แยก” จากงานนี้ จะถูกนำไปใช้เป็นกระถางเพาะชำแทนการใช้ถุงเพาะชำพลาสติก เพราะเมื่อแก้วเหล่านี้อยู่ในดินที่เหมาะสม จะสามารถย่อยสลายเป็นมวลชีวภาพ เป็นประโยชน์กับดินและพืชต่อไป
“ขยะบนสแตนด์เชียร์” ส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุหรืออุปกรณ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก เช่น กระบองลม กระป๋อง ขวดแก้ว หรือบรรจุภัณฑ์ใส่เครื่องดื่ม
เราจึงเลือกวิธีจัดการด้วยการ “แยก” เพื่อนำไปส่งขายเพื่อนำกลับคืนสู่กระบวนการ Recycle จนกลายเป็นวัสดุชิ้นใหม่ได้หลากหลายประเภท
แล้วถ้าเป็นขยะที่ไม่สามารถ Recycle ได้ล่ะ เพราะบนสแตนด์หรือขบวนพาเหรด ยังมีขยะจำพวกวัสดุเหลือใช้ที่เป็นวัสดุแห้ง ไม่ว่าจะเป็น พู่กระดาษ ของตกแต่งอื่น ๆ ด้วย
ขยะเหล่านี้เมื่อเรา “แยก” ออกมาแล้ว เราจะส่งต่อให้โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ นำมันไปเผาเป็นพลังงานความร้อนทดแทนการใช้ถ่านหิน ผ่านกระบวนการ RDF (Refuse Derived Fuel)
ยังไม่หมดเท่านั้น เพราะว่าขยะจากสแตนด์หรือขบวนพาเหรดบางชนิด ยังมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถนำไปเข้ากระบวนการเพื่อเพิ่มมูลค่า หรือเรียกว่า Upcycle จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ขวด PET หรือขวดน้ำพลาสติกที่เราคุ้นเคย เส้นใยของมันสามารถนำมาผ่านกระบวนการเพื่อทำเป็นผ้าได้ด้วย ซึ่งขวดเพียงแค่ 7 ขวด ก็สามารถผลิตเป็น “รองเท้า” คู่ใหม่ได้แล้ว
ส่วนไวนิล ผ้าต่วน หรือผ้าดิบ ที่ใช้ตกแต่งในขบวนพาเหรด ก็สามารถนำมา Upcycle เพื่อผลิตเป็น “กระเป๋า” ได้ด้วยเช่นกัน และเมื่อเราได้รองเท้าและกระเป๋าใบใหม่มาแล้ว เราก็จะนำไปบริจาคให้กับโรงเรียน หรือน้องๆ เด็กนักเรียนที่ต้องการ ผ่านค่ายอาสาฯ ของทั้งสองมหาวิทยาลัย เพื่อทำให้ผลลัพธ์ของการจัดการขยะในครั้งนี้ สร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นได้อีกทอดหนึ่ง
ที่มา : Manager online 6 กุมภาพันธ์ 2563 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000012433]