อุณหภูมิที่ขั้วโลกใต้พุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุด นับตั้งแต่มีการเริ่มเก็บสถิติมาเมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว ขณะที่นักวิทยาศาสตร์แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและปัญหาการละลายของน้ำแข็งในแถบนั้น
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization หรือ WMO) รายงานว่า ทีมวิจัยของอาร์เจนติน่าที่ประจำอยู่ที่แอนตาร์คติกยืนยันว่า อุณหภูมิในเขตขั้วโลกใต้พุ่งสูงถึง 18.3 องศาเซลเซียส ในวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งสูงกว่าสถิติสูงสุดที่ 17.5 องศาเซลเซียสที่บันทึกไว้เมื่อเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 2015
ทั้งนี้ WMO ระบุว่า แม้ระดับอุณหภูมิสูงสุดที่บันทึกได้นี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นในแถบขั้วโลกใต้ แต่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าสถานการณอาจเลวร้ายลงมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ธารน้ำแข็งในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรแอนตาร์คติกที่ละลายไปแล้วราว 87% โดยมีการละลายเร็วขึ้นกว่าปกติในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
ทางองค์การฯ ยังกล่าวด้วยว่า สภาพอากาศที่คาบสมุทรแอนตาร์คติกที่ทีมวิจัยประจำอยู่ เป็นพื้นที่ที่อุหณภูมิปรับสูงขึ้นรวดเร็วที่สุดพื้นที่หนึ่งในโลก โดยมีการเพิ่มขึ้นไปแล้วเกือบ 3 องศาเซลเซียสในช่วงกว่า 50 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ภาวะโลกร้อนคือปัจจัยหลักที่ทำให้แผ่นน้ำแข็งในแถบขั้วโลกใต้ละลายมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นไปด้วย
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวว่า จะต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องของรายงานดังกล่าวอีกครั้ง และให้ความเห็นว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวของอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว มาจากบริเวณยอดเขาในพื้นที่
คาบสมุทรแอนตาร์คติกครอบคลุมพื้นที่ตอนเหนือสุดของทวีป และอยู่ใกล้กับตอนใต้สุดของอเมริกาใต้
ที่มา : Voice of America 8 กุมภาพันธ์ 2563 [https://www.voathai.com/a/antarctica-wmo-glacier-global-warming/5279141.html]