เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 ที่ เทคโนธานี ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย” ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมแถลงความร่วมมือระหว่าง วว.และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีชีวภาพทุกระดับดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า จากการที่ วว. มีผลงานวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านสาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็กมาเป็นเวลากว่า 25 ปี วว.ตระหนักถึงศักยภาพและความสำคัญของสาหร่ายขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้น ในการตอบสนองธุรกิจอุตสาหกรรม บทบาทในด้านต่างๆ มากขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-based Economy) วว. นับเป็นหน่วยงานแห่งเดียวในประเทศที่มีการดำเนินงานด้านสาหร่ายอย่างครบวงจร ตั้งแต่การมีคลังเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่าย เพื่อรวบรวมและเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืดและน้ำเค็มขนาดเล็ก (freshwater and marine microalgae) จากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศพร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูล กว่า 1,000 สายพันธุ์ มีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยง วิเคราะห์ และทดสอบ ที่สำคัญและโดดเด่น คือ วว. มีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายกลางแจ้งระดับการเพาะเลี้ยงต่อเนื่องและครบวงจร ปริมาตรรวม 400,000 ลิตร
ทั้งนี้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย วว. (TISTR Algal Excellent Center, TISTR ALEC) ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ภายใต้โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย เพื่อพัฒนาทรัพยากรชีวภาพด้านสาหร่าย พร้อมทั้งดำเนินการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ และการบริการที่เกี่ยวข้องกับสาหร่ายแก่ภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นการผลิตชีวมวลสาหร่ายเพื่อเป็นวัตถุดิบ (feedstock) ในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านเกษตร อาหาร เภสัช สิ่งแวดล้อม และพลังงานอย่างยั่งยืน ให้เป็นที่ยอมรับในระดับอาเซียน
ที่ผ่านมา วว. มีผลงานด้านสาหร่ายในมิติต่างๆ ทั้งในด้านอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาหร่ายอย่างยั่งยืน โดยการจัดตั้งคลังสาหร่าย วว. ณ เทคโนธานี เป็นการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention Biological Diversity, CBD) ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด (ex situ conservation) และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน (sustainable utilization) ด้านการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชน ตลอดจนด้านงานบริการ รวมถึง งานบริการวิจัยตามความต้องการของภาคเอกชน เช่น ร่วมงานบริการวิจัยกับ ปตท. ปตท. สผ. บริษัท เดนโซ่ คอร์ปอเรชั่น บริษัท IHI คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น บริษัท มาลีสามพราน บริษัท บางจาก เป็นต้น กอปรกับขีดความสามารถของนักวิจัยในการนำสาหร่ายมาใช้ประโยชน์จากสาหร่ายในด้านต่างๆ และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านสาหร่ายอย่างครบวงจร ในการดำเนินงานด้านสาหร่ายน้ำจืดและน้ำเค็มขนาดเล็กอย่างครบวงจร และโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสาหร่ายอย่างครบวงจรมี
“ วว. เชื่อมั่นว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย วว. มีความพร้อมเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการยกระดับงานวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี และบริการด้านสาหร่าย อย่างครบวงจรกับทุกภาคส่วน เชื่อมั่นว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย วว. จะเป็นกำลังหลักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ THAILAND 4.0” ผู้ว่าการ วว.กล่าว
ที่มา : Dailynews online 26 มกราคม 2562 [https://www.dailynews.co.th/it/689880]