จากความต้องการพืชเชิงเดี่ยวของตลาด และการไม่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เป็นหนึ่งในสาเหตุให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยละเลยทรัพยากรในท้องถิ่นของตัวเอง แต่เพื่อช่วยชาวบ้านรักษาป่าอันเป็นแหล่งน้ำที่มีคุณภาพมาตรฐานน้ำดื่ม การสร้างตลาดเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ
บ้านนาหมูม่น หมู่ที่ 2 ต.นาดี อ.ด่านซ้าย จ.เลย เป็นหมู่บ้านที่มีทรัพยากรน้ำที่สมบูรณ์มีแหล่งน้ำธรรมชาติจาก 2 แหล่ง คือ ลำน้ำหมันซึ่งเป็นสายน้ำที่พาดผ่านหมู่บ้านสำหรับใช้ในการทำเกษตร และแหล่งน้ำผุดหรือน้ำซับที่มีต้นน้ำจากป่า ซึ่งเกิดจากน้ำในดินที่ผ่านการกรองของชั้นหินทรายจากบนภูเขาลงมาสู่ที่ต่ำ จากผลการตรวจคุณภาพน้ำพบว่า มีคุณภาพน้ำที่สะอาดปราศจากสารปนเปื้อนในระดับมาตรฐานน้ำดื่ม
จากสภาพภูมิประเทศของบ้านนาหมูม่นที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงกว่า 340-880 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีสภาพพื้นที่ป่าไม้ 38,275 ไร่ ลดลงจากปี 2545 ประมาณ 1,268 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.58 แต่จากฐานทรัพยากรน้ำบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้
นางคุณารักษ์ มณีนุษย์ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ในฐานะนักวิจัยท้องถิ่น กล่าวว่าบ้านนาหมูม่นเป็นหนึ่งในหมู่บ้านต้นแบบเกษตรทางเลือกในอำเภอด่านซ้ายของ สกว. เพื่อลดปัญหาเขาหัวโล้น เพื่อที่จะรักษาทรัพยากรน้ำ แต่การจะรักษาทรัพยากรน้ำได้ ต้องรักษาป่า และการที่จะเปลี่ยนให้ชาวบ้านที่ทำเกษตรจากการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวให้เป็นเกษตรทางเลือกได้ ก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องป่า เรื่องน้ำ และจะต้องมีทางเลือกให้กับชาวบ้านด้วย
“บ้านนาหมูม่น มีแหล่งทรัพยากรน้ำที่นอกจากน้ำฝนแล้ว ยังมีน้ำจากลำน้ำหมัน และน้ำเหมือง ซึ่งเป็นน้ำผุดหรือน้ำซับที่เกิดจากแหล่งน้ำธรรมชาติจากภูเขา ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำเหมืองไปใช้ในแปลงปลูกผักปลอดสารพิษของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งพบว่าผลผลิตที่ได้ไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมีเกินค่ามาตรฐาน ถือว่าน้ำเหมืองจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อคนในชุมชน จึงเป็นฐานทรัพยากรที่ชุมชนจะต้องดูแลรักษาและอนุรักษ์ป่า เพื่อให้เรามีน้ำใช้ตลอดทั้งปี รวมถึงระบบนิเวศต่างๆ ทั้งในลุ่มน้ำหมัน น้ำเหมือง และในทุ่งนามีความอุดมสมบูรณ์มากกว่า เพราะหมู่บ้านเรามีทรัพยากรด้านน้ำมากกว่าหมู่บ้านอื่นๆ”
ด้าน รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา จากภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่าบ้านนาหมูม่น เป็นหนึ่งในหมู่บ้านต้นแบบในการขับเคลื่อนเรื่องด่านซ้ายกรีนเนทและด่านซ้ายโมเดล โดยใช้เกษตรทางเลือกเป็นเส้นทางในการฟื้นฟูทรัพยากรอาหาร (ดิน น้ำ และป่า) ภายใต้โครงการการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรและหมู่บ้านต้นแบบการผลิตและการตลาดสีเขียวมาตรฐานด่านซ้ายกรีนเนท โดยประยุกต์แนวทางระบบการรับรองมาตรฐานอย่างมีส่วนร่วม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย (ปี 2560-2561) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุน
“บ้านนาหมูม่นเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ช่วงปลายลำน้ำหมัน และมีน้ำเหมืองเป็นต้นทุนของท้องถิ่น ที่มีรากวัฒนธรรมความเชื่อเรื่อง พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษ ทำให้บริเวณห้วยภูได้รับการปกป้องไม่ถูกรุกล้ำ แต่ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น คือเรื่องของการทำเกษตรที่เริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยทำแบบพออยู่พอกินมาเป็นการทำเกษตรแบบการค้า ทำให้ต้องขยายพื้นที่ มีการบุกรุกพื้นป่าเพื่อทำเกษตร โดยเฉพาะการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวขึ้นไปในป่าเพิ่มมากขึ้น”
ผลการศึกษาพบว่า ส่วนหนึ่งของการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวนั้น มาจากความต้องการของตลาดที่เป็นแรงจูงใจ แต่เมื่อเทียบรายได้จากการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังหักรายจ่ายแล้วจะเหลือเพียง 2,100 บาทต่อไร่ต่อปี แตกต่างจากการทำเกษตรทางเลือกมีรายได้อยู่ที่ 115,200 บาทต่อไร่ต่อปี แต่เพราะเป็นรายได้ที่ชาวบ้านได้รับเป็นรายวัน แล้วนำกลับมาใช้ชีวิตประจำวัน จึงไม่รู้สึกต่างจากเงินที่ได้เป็นก้อน จากการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย
จากผลการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน โดยคณะวิจัยจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย พบว่า พื้นที่ป่าชุมชนบ้านนาหมูม่นมีสภาพป่าเป็นป่าเต็งรังผสมป่าเบญจพรรณ มีชนิดพรรณไม้กว่า 142 ชนิด เป็นไม้ยืนต้น 64 ชนิด ไม้ล้มลุก 23 ชนิด ไม้เถา 20 ชนิด ไม้พุ่ม 12 ชนิด พืชวงศ์หญ้า 18 ชนิด และเฟิร์น 5 ชนิด และยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก ไม่น้อยกว่า 115 ชนิด
“ผลการศึกษาชี้ให้เห็นชัดว่า พื้นป่าบ้านนาหมูหม่นยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ที่ควรแก่การอนุรักษ์ ดังนั้น เมื่องานวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาเขาหัวโล้น และการฟื้นฟูฐานทรัพยากรอาหาร จึงใช้เกษตรทางเลือกเข้ามาขับเคลื่อน เพื่อสร้างภาวะอยู่ดีมีสุขทั้งมิติสุขภาพและทำให้ชาวบ้านมีรายได้ จากสิ่งที่ถนัดนั่นคือ การปลูกพืชผักปลอดภัย”
อย่างไรก็ตาม นางคุณารักษ์ยอมรับว่า ปัญหาเรื่องการรุกพื้นที่ป่าของชุมชนยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงและเห็นได้ชัด คือ เรื่องของทัศนคติ มุมมอง และพฤติกรรมของชาวบ้านที่เริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับต้นทุนในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยคิดเรื่องของต้นทุนและกำไร จะคิดแค่ขายข้าวโพดได้เงินเป็นก้อน แต่ขายผักได้เงินน้อย เช่น ได้เงินจากการขายข้าวโพดมา 6 แสนบาท แต่ไม่เคยหักต้นทุนค่าใช้จ่าย อย่างค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ค่าเมล็ดพันธุ์ และเงินที่ได้มาก็นำไปใช้หนี้และซื้อมาทำต่อหมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
“ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มคิดแล้วว่า เมื่อเทียบเปรียบรายได้ที่ได้จากการปลูกผักขายแม้วันละ100-200 บาท แต่มีกำไรดีกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากการเก็บขายแล้วยังนำมาแปรรูปหรือทำเป็นเมนูอาหารขายเพิ่มมูลค่าได้อีก ซึ่งหลังจากที่งานวิจัยเข้ามาขับเคลื่อนทำให้ชุมชนเกิดการตื่นตัว เริ่มเข้าใจต้นทุนกำไร เริ่มห่วงสุขภาพและรู้สึกแล้วว่าต้องเลิกใช้สารเคมี เปลี่ยนมาใช้สมุนไพรแทน หรือหากจะใช้สารเคมีก็ต้องตรวจหาสารเคมีตกค้างในแปลงผักอยู่เสมอ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยายามสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เข้ามาให้ความรู้ในการตรวจอย่างเป็นระบบ” นางคุณารักษ์กล่าว
ที่มา : Manager online 17.04.19 [https://mgronline.com/science/detail/9620000035086]