โลกปัจจุบันมีคนสูบกัญชาเพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจประมาณ 150 ล้านคน กัญชาจึงเป็นพืชสำราญที่ผู้คนนิยมเสพมากที่สุดชนิดหนึ่ง และเป็นที่ชื่นชมมาตั้งแต่สมัยโบราณ การสืบค้นต้นกำเนิดของการชื่นชอบกัญชาจึงเป็นที่สนใจในหลายประเด็น เช่น มนุษย์เริ่มปลูกและใช้กัญชาเป็นยารักษาโรค สกัดน้ำมันเป็นอาหาร ใช้ใยทอผ้า และทำเชือกครั้งแรกเมื่อใด และ ณ ที่ใด แล้วความนิยมกัญชาได้แพร่กระจายไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างไร

ในการตอบคำถามเหล่านี้ นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์จำต้องมีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมเพื่อยืนยันการอ้าง นอกเหนือจากการได้ฟังคำบอกเล่า หรืออ่านบันทึก จนได้พบว่าเมื่อมนุษย์รู้จักกัญชา และตระหนักในคุณประโยชน์ที่มากมหาศาลของมัน จึงได้นำกัญชาไปปลูกในดินแดนใหม่ที่ตนได้เดินทางไปถึง
นักโบราณคดีได้พบหลักฐานว่า เมื่อ 5,000 ปีก่อน คนจีนเรียกกัญชาว่า ta-ma และนิยมปลูกใกล้บ้าน ตามพระราชบัญชาในจักรพรรดิ Shen Nung เพื่อใช้เส้นใยของต้นกัญชาทำเชือกและทอผ้า และที่บริเวณเชิงภูเขา Altai ในเอเชียกลางก็มีการพบหลักฐานเป็นผ้าที่ทอด้วยใยต้นกัญชา
หมอชาวบ้านในอินเดียเมื่อ 3,000 ปีก่อนให้คนไข้สูดดมกัญชาเพื่อลดความเจ็บปวด
ในประเทศกรีซเมื่อ 2,500 ปีก่อน นักประวัติศาสตร์ Herodotus ได้บรรยายว่า ชน Scythian ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเอเชียกลาง นิยมปลูกกัญชาเพื่อนำใยไปทอผ้า และได้นำต้นกัญชาไปปลูกในกรีซกับ Sicily ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลีเพื่อใช้ใยทำเชือก และทอเป็นผ้าใบเรือ และเมื่อหนึ่งศตวรรษก่อนคริสตกาล นักเขียนชาวโรมันชื่อ Lucilius ก็ได้เคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับกัญชา จนกระทั่งคริสตศักราชแรก นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันคือผู้เฒ่า Pliny ก็ได้เขียนเกี่ยวกับวิธีการเตรียมเส้นใย และเกณฑ์การแบ่งคุณภาพของใยที่จะนำไปใช้ในการทำเชือก
ด้านชน Saxon และ Norman ที่โดยอาศัยอยู่บนเกาะอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1100 ก็นิยมทำไร่กัญชา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้า Henry ที่ 8 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษมีกองทัพเรือยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก พระองค์ทรงสนับสนุนการนำกัญชาไปปลูกในอเมริกา และทรงส่งต้นกัญชาไปปลูกที่ Port Royal ในแคนาดาด้วย ในปี 1606 การปลูกกัญชาได้เกิดเป็นครั้งแรกที่รัฐ Virginia และไร่กัญชาในรัฐ Kentucky สามารถผลิตเส้นใยที่ใช้ทอผ้าได้ในปริมาณมากพอสำหรับคนอเมริกันทุกคนในสมัยก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมือง
ที่หลุมศพของชาวไวกิงในนอร์เวย์และ Iceland ก็มีหลักฐานที่แสดงว่า ใบเรือและเสื้อผ้าที่ไวกิงใช้ในการดำรงชีพล้วนทอมาจากใยต้นกัญชา
นอกจากใยจะเป็นประโยชน์แล้ว เมล็ดกัญชาที่ย่างไฟจนสุกก็สามารถนำไปเป็นอาหารรสดีได้ ในหลุมฝังศพอายุ 2,500 ปีที่ Berlin ประเทศเยอรมนีมีเมล็ดกัญชาที่ลูกหลานตั้งใจจะให้ผู้ตายได้ใช้บริโภคในภพหน้า คนอเมริกาในยุคก่อร่างสร้างประเทศใช้เมล็ดกัญชาเป็นอาหารสำหรับนกและไก่ ชาวรัสเซียก็นิยมใช้น้ำมันสีเขียวอ่อน-เหลืองที่สกัดได้จากเมล็ดกัญชาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับตะเกียง
แม้จะมีคุณประโยชน์มากมายดังกล่าวแล้ว แต่ประโยชน์ที่มากที่สุดของกัญชาคือการใช้ในการแพทย์
ในยุคจักรพรรดิ Shen Nung เมื่อ 5,000 ปีก่อน พระองค์ทรงโปรดให้แพทย์หลวง Hoa-gho ใช้กัญชารักษามาลาเรีย แก้อาการท้องผูก ไขข้ออักเสบ ใจลอย เหน็บชา และอาการปวดประจำเดือนสตรี ตำรายาจีนยังกล่าวถึงการใช้ยางกัญชาปนในเหล้าองุ่นให้คนบาดเจ็บดื่มเพื่อลดความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากการถูกผ่าตัด
ตำนานยาของชาวอินเดียในสมัยโบราณได้กล่าวถึงกัญชาว่าเป็นของขวัญอันประเสริฐที่เทพยดาประทานให้มนุษย์เพื่อลดไข้ หลับสบาย รักษาอาการท้องร่วง เพิ่มความหิว ทำให้มีอายุยืน มีสติปัญญาเฉียบแหลม และสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ คนอินเดียโบราณจึงนิยมใช้กัญชาในพิธีกรรมทางศาสนา เพราะการสูดดมควันกัญชาจะทำให้คนสูดมีจิตใจปลอดโปร่งและเป็นสุข ตำราแพทย์ Sushruta ของอินเดียยังได้กล่าวถึงสรรพคุณของกัญชาว่า ใช้รักษาโรคจมูกอักเสบ ท้องร่วง และโรคเรื้อน ได้ตำรา Bhavaprakasha ซึ่งได้รับการเขียนขึ้นเมื่อประมาณ ค.ศ.1600 ได้กล่าวถึงสรรพคุณของกัญชาว่า ช่วยย่อยอาหาร เพิ่มพลังเสียง ลดรังแค รักษาอาการปวดศีรษะ โรคนอนไม่หลับ โรคสตรี ไอ ฯลฯ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า หมออินเดียโบราณใช้กัญชารักษาทุกโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคมาลาเรีย โรคท้องร่วง และโรคเขตร้อนต่างๆ รวมถึงรักษาบาดแผลที่เกิดจากการถูกงูกัด และเวลาสตรีท้องแก่ที่ทารกใกล้ครบกำหนดจะคลอด หมอจะให้ดมควันกัญชาเพื่อลดความเจ็บปวดของเธอด้วย
ในวารสาร Science Advance ฉบับต้นเดือนมิถุนายน ปี 2019 นี้ Yang Yimin กับ Ren Meng จากสถาบัน Chinese Academy of Sciences ที่กรุงปักกิ่งได้รายงานการพบหลักฐานว่า ที่สุสาน Jirzankal ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ภูเขา Pamir ที่สูง 3,000 เมตร คนที่มางานพิธีฝังศพมักจะมีการเผากัญชาเพื่อให้เทพยดาฟ้าดินและวิญญาณของผู้ตายได้สูดดมกลิ่น เพื่อให้จิตใจเบิกบาน และประเพณีนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 ปีก่อนในแถบเอเชียกลาง ซึ่งปัจจุบันคือประเทศ Tajikistan ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศจีน

ที่มา : Manager online 16 สิงหาคม 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000078472]