Biomitech สตาร์ทอัพเม็กซิโก เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีฟอกอากาศ ชื่อ Biourban 2.0 ทำหน้าที่เหมือนต้นไม้ดูดซับมลพิษทางอากาศ ใช้ทดแทนต้นไม้จริงถึง 368 ต้น

เพราะการปลูกต้นไม้ในเมืองใหญ่อาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก จากข้อจำกัดของพื้นที่น้อย และต้องใช้เวลาปลูกนานกว่าที่จะเติบโตจนสามารถช่วยดูดซับอากาศได้พอประมาณกับก๊าซที่เราปล่อยออกไป
ต้นไม้เทียมนี้ใช้วิธีสังเคราะห์แสงโดยใช้ระบบปั๊มอากาศผ่านสาหร่าย Microalgae ต้นหนึ่งสูงประมาณ 4.2 เมตร สามารถดูดซับคาร์บอน และคืนออกซิเจนเท่ากับต้นยูคาลิปตัส 368 ต้น และยังช่วยดูดซับฝุ่น PM 10 และ PM 2.5 ได้ถึง 99.7%
เจ้าของสตาร์ทอัพ กล่าวว่าสาหร่ายมีคุณสมบัติสลายมลพิษได้เร็วกว่าต้นไม้ ช่วยผลิตก๊าซออกซิเจนปริมาณมาก รวมถึงเสาของมันยังมีเซนเซอร์ที่วัดคุณภาพอากาศ และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำงาน
เนื่องจากบางจุดในเขตเมืองมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ปลูกต้นไม้จริง จึงไม่สามารถปลูกต้นไม้ได้มากถึง 300 ต้น แต่ต้นไม้เทียมช่วยลบข้อจำกัดดังกล่าวได้
มีเจ้าเครื่องนี้ ก็จะเป็นการสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่า Green roof สวนบนหลังคา Green wall ผนังสีเขียว หรือ แผงต้นไม้ตามเสาทางด่วน ประกอบกับแนวทางการผลักดันให้มีการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนในเมืองน้อยลง อย่างการผลักดันให้ใช้รถสาธารณะพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

ที่มา : Manager online 20 สิงหาคม 2562  [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000079470]