คบเด็กสร้างบ้าน
สิ่งที่เธอกำลังให้เด็กๆ ช่วยกันทำกันยกใหญ่อยู่ในตอนนี้คือ Eco Bricks ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นจากปณิธานปีใหม่ในปี 2017 ของเธอ เพราะเธอเบื่อกับการเห็นถุงพลาสติกตามท้องถนน จึงคิดที่จะลงไปยังชุมชนและจัดการกับขยะจำนวนมหาศาล
“ฉันพาเด็กทุกคนออกไปข้างนอก เก็บขยะใส่รถบรรทุก แล้วก็ส่งต่อให้ที่ทิ้งขยะในไทรโยค เราใช้เวลาเก็บขยะในชุมชนทั้งวันจนเต็มสองคันรถ เป็นกองพลาสติกสูงพะเนินเทินทึก แล้วฉันก็ให้เงินเขาเอาไปทิ้งที่ที่ทิ้งขยะ แต่พวกเขากลับมาพร้อมขยะเต็มคันรถแล้วก็บอกอย่างสุภาพว่า ที่ทิ้งขยะปิด ฉันก็เลยเปิดหาข้อมูลจากลุงกูเกิลเพื่อนรักของฉัน เพื่อหาว่าจะจัดการกับพลาสติกอย่างไรดี จนเจอว่าที่อินโดนีเซียกำลังเริ่มทำ Eco Bricks วัสดุสร้างบ้านจากพลาสติกรีไซเคิล พวกเขาวางเรียงมันเป็นแถวๆ แล้วฉาบมันด้วยโคลน ตอนนั้นเองที่ฉันคิดว่าเราควรลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง”
ขั้นตอนการทำ Eco Bricks ไม่ยากเลย เริ่มต้นจากขวดพลาสติก และเศษขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อย
“เราเริ่มจากการนำขยะพลาสติกยัดใส่ในขวดพลาสติกให้แน่น แล้วติดแต่ละขวดเข้าไว้ด้วยกัน จากนั้นเราก็เอามันไว้ตรงกลางระหว่างคอนกรีต ซึ่งมันจะแข็งแรงและมั่นคงมาก ทำเป็นกำแพงสูงๆ ได้ไม่มีปัญหา ไม่พังลงมาแน่นอน เพราะเราใช้เหล็กเป็นโครงอยู่แล้ว
“เด็กๆ เก่งกันมากในการเอาขยะใส่ในขวดโดยเราสร้างเกมใน Bamboo School ด้วยการให้เด็กๆ ยัดขยะลงในขวดแล้วมาแข่งกันว่าใครจะได้ขวดที่หนักที่สุด เด็กๆ ก็จะเชียร์กัน ให้พวกเขารู้สึกสนุกที่จะทำ ฉันมีความสุขกับอะไรแบบนั้นมาก เราก็แค่ใช้การเล่นเกมเพื่อทำ Eco Bricks”
ขยะชิ้นเล็กที่จะยัดใส่ในขวดจะเป็นขยะอะไรก็ได้ เธอบอกว่าห่อไอศครีมของเด็กๆ ก็สามารถยัดใส่ลงในขวดได้ เพราะว่าพอไปอยู่ในกำแพงแล้วเอาซีเมนต์ฉาบไปใส่ในแต่ละด้าน มันก็เหมือนกับการซีลอยู่แล้ว แต่การยัดขยะประเภทกระดาษลงไปอาจทำให้ขวดไม่แข็งแรงพอ
“มีคนส่งขวดที่ใส่กระดาษมาให้ แล้วตัวกระดาษมันนิ่มเกินไป ทำให้ไม่แน่นพอเหมือนพลาสติก และอีกอย่างหนึ่งคือกระดาษสามารถนำไปเผาหรือรีไซเคิลได้ แต่เราอยากกำจัดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งมากกว่า”
บอกแล้วคุณอาจจะตกใจ แต่ภายในขวดลิตร 1 ขวด เราสามารถกำจัดขยะพลาสติกได้ถึง 500 กรัม
นอกจากนี้ เธอยังเล่าถึงเคล็ดลับอื่นๆ กับเราอีกด้วย
“เรามีเรื่องตลกๆ เกี่ยวกับกาวด้วย บางคนบอกว่าใช้กาวร้อนติดขวดด้วยกันต้องดีแน่ๆ แต่พอขวดโดนแสงแดด กาวร้อนละลาย ขวดก็แยกออกจากกัน ดังนั้น ใช้กาวร้อนนี่ไม่รอดแน่ แล้วเราก็ทดลองกาวอีกหลายยี่ห้อ จนได้กาว 3M ที่ติดทนและแข็งแรงมาก”
นอกจากเคล็ดลับเรื่องกาวแล้ว ลักษณะของขวดก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน
“เรายังพบอีกว่า ถ้าเราติดกาวที่ขวดแบบเดียวกันด้วยกันมันจะแข็งแรงกว่า อย่างขวดเครื่องดื่มบางประเภทที่ทำขวดหลายรูปร่างมาก บางขวดอ้วน บางขวดผอม ซึ่งมันไม่มีประโยชน์เลย เพราะมันต้องใช้ขวดเหมือนกันแปดขวด ถึงจะสามารถติดกาวมันด้วยกันได้ เพราะฉะนั้น ฉันจะรักขวดสี่เหลี่ยมมากๆ ยิ่งเป็นขวดเหลี่ยมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งติดกาวง่ายขึ้นเท่านั้น มันก็เหมือนยิ่งเราทำเราก็ยิ่งเรียนรู้ เราก็ยิ่งทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ”
เธอบอกกับเราว่าความพยายามแรกของเธอ คือการวางแผนทำกำแพงและบันไดจาก Eco Bricks เท่านั้น แต่หลังจากนั้นเธอก็คิดที่จะทำบ้านจากนวัตกรรมขยะรีไซเคิลนี้ด้วย
และแล้วบ้านจาก Eco Bricks ริมอ่างเก็บน้ำหลังนี้ก็ถูกสร้างขึ้น ผ่านการออกแบบโดยวิศวกรทางอาคารและโครงสร้าง ซึ่งเป็นเด็กชายคนหนึ่งที่เคยอยู่ที่แบมบูสคูล และขวดน้ำที่ใช้สร้าง Eco Bricks ก็มาจากน้ำพักน้ำแรงของเด็กๆ
“นอกจาก Eco Bricks แล้ว เรายังตั้งใจทำมันเป็นเครื่องปรับอากาศด้วย หลักการของมันก็คือเวลาที่คุณเป่าลมจากปากกว้างๆ ออกมาที่มือ คุณจะรู้สึกถึงไอร้อนที่ออกมา แต่ถ้าเราเป่าลมจากปากแคบๆ อากาศที่ออกมาจะเย็น ดังนั้น เราก็จะตัดก้นขวดออก หันปากขวดยึดกับก้นขวด แล้วยึดมันกับช่องลมหรือช่องหน้าต่างโดยหันด้านปากขวดเข้าด้านในบ้าน ทีนี้อากาศจากภายนอกที่ผ่านเข้ามาในบ้านก็จะเย็น ซึ่งมันช่วยลดอุณหภูมิได้ถึงห้าองศา”
แม้ตอนนี้ตัวบ้านจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์และต้องทำต่อไปอีก แต่แคทเธอรีนก็ตื่นเต้นมากที่มันมาได้ไกลขนาดนี้ จากปัญหาขยะล้นชุมชม กลายเป็นปัญหาขาดขยะมากกว่า ฉะนั้น พวกเขาจึงรับขยะจากทางอนามัยบ้องตี้ โรงเรียนและร้านค้าของโรงเรียนมาเพื่อสร้างอาคารต่อไป
“ฉันได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับ Trash Hero เพราะว่าพวกเขาเก็บรวบรวมขยะกันอยู่แล้ว โดยตอนนี้ เขายังเอาขยะมาให้เราทำ Eco Bricks ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะทำให้เด็กๆ ได้รู้วิธีการกำจัดขยะมากขึ้น”
แคทเธอรีนมองว่าการปลูกฝังการรักษาสิ่งแวดล้อมกับเด็กๆ เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการสอนผู้ใหญ่ โดยพวกเขายังเป็นความหวังในการพัฒนาโลกของเราในอนาคต
“ที่นิวซีแลนด์เราเรียนวิชาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย และจะถูกปรับถ้าใครทิ้งแค่พลาสติกชิ้นเล็กๆ ลงพื้น หรือถ้าฉันเห็นใครก็ตามทิ้งขยะลงพื้น ฉันถ่ายรูปแล้วไปแจ้งตำรวจให้ดำเนินการกับเขาได้เลย ทำให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่สะอาดมาก ไม่มีขยะในแม่น้ำหรือที่ชายหาด ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับประเทศไทย
“ดังนั้น ฉันเลยสอนเด็กๆ อย่างจริงจังเลยว่าเราจะปลูกต้นไม้และสร้างสวน เราจะช่วยให้ทุกสิ่งเติบโตและแผ่ร่มเงา และเราจะไม่ทิ้งขยะใกล้สวนที่เราสร้าง เราควรแสดงให้คนเห็นว่ามันเป็นไปได้ มันจะเป็นสิ่งที่ดีมากถ้าเรากระตุ้นให้มันเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม”
เธอมองว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม โลกนี้จะกลายเป็นสถานที่ที่น่าหดหู่มาก
“เพราะว่ามันมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างรุนแรง เราจะต้องเปลี่ยนคนรุ่นนี้ ถ้าเราอยู่ต่อไปอย่างนี้ก็เท่ากับว่าเราทำลายสิ่งแวดล้อม เราจะปลูกพืชผลอะไรไม่ได้ มีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะเราต้องการต้นไม้ และคนรุ่นนี้ต้องอยู่กับสิ่งพวกนี้ต่อไป
“ฉันพยายามสอนเด็กๆ ให้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เราต้องสนับสนุนโรงเรียนให้มากขึ้น ให้ผู้คนที่มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นขึ้น”
ก่อนบทสนทนาของเราจะจบลง เธอมองออกไปยังหญ้าบนเนินเขาสีเขียวด้านหน้านั้น มองไปรอบบ้านไม้ไผ่ แล้วหันมาพูดกับเราว่า
“พอมองย้อนกลับไปแล้วก็ไม่อยากจะเชื่อเลยว่าเรามาไกลได้ขนาดนี้ แต่ฉันก็คิดว่ามันทำให้ดีได้ยิ่งขึ้นไปอีก ฉันคิดว่าเราควรทำสิ่งที่ดีทุกวัน ควรออกไปและทำอะไรสักอย่าง อย่าแค่พูดถึงแต่ทำมันเลย เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ก็ได้
อย่างทุกวันนี้ ฉันจะเอาผ้าห่มและอาหารที่เรามีเหลือพอจะแบ่งปันออกไปให้คนที่เขายังขาดและต้องการ เราทุกคนควรพยายามทำสิ่งที่ดีเพื่อคนอื่น เพราะมันทำให้เป็นสุข” เธอกล่าวทิ้งท้ายพร้อมกับรอยยิ้มแสนอบอุ่น
ที่มา : Readthecloud 23 สิงหาคม 2562 [https://readthecloud.co/bamboo-school-family/]