หลังจาก “แรดขาวเหนือ” ตัวผู้ตัวสุดท้ายตายไปเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ความหวังในการพิทักษ์พันธุกรรมแรดหายากนี้น้อยลง แต่ล่าสุดสัตวแพทย์ได้จุดไฟความหวังขึ้นมาหลังประสบความสำเร็จในการเก็บไข่ของแรดเพศเมียพันธุ์นี้ที่เหลือเพียง 2 ตัวสุดท้ายบนโลก

เอเอฟพีระบุว่า วิทยาศาสตร์เป็นเพียงความหวังเดียวสำหรับแรดขาวเหนือ (northern white rhino) หลังจาก “ซูดาน” (Sudan) แรดขาวเหนือเพศผู้ ที่อยู่ในสำนักอนุรักษ์โอลเปเจตา (Ol Pejeta Conservancy) ในเคนยา ได้ตายไปเมื่อปีที่ผ่านมา
ล่าสุดภายในแหล่งอนุรักษ์เดียวกันได้เกิดประกายความหวังอีกครั้ง เมื่อสัตวแพทย์ประสบความสำเร็จในการเก็บไข่ของแรดขาวเหนือเพศเมียที่เหลืออยู่บนโลกเพียง 2 ตัว
แรดเพศเมีย 2 ตัวที่เหลืออยู่ คือ นาจิน (Najin) อายุ 30 ปี และลูกสาวของเธอ ฟาตุ (Fatu) อายุ 19 ปี ทั้งสองอยู่ภายในการปกป้องตลอด 24 ชั่วโมง ของกองกำลังติดอาวุธที่โอลเพเจตา เคนยา
นาจินและฟาตุมีปัญหาไม่สามารถตั้งท้องได้ โดยฟาตุนั้นมีปัญหามดลูกเสื่อมสภาพ ส่วนนาจินแม่ของเธอมีปัญหาขาหลังที่อ่อนแอ ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้เมื่อเธอตั้งท้อง
กระบวนการเก็บไข่จากแรดขาวเหนือทั้งสองตัวอยู่ภายใต้ความเสี่ยงสูง โดยต้องถูกวางยาสลบเป็นเวลานานเกือบ 2 ชั่วโมง และมีสัตวแพทย์นานาชาติร่วมปฏิบัติการที่เคนยา โดยใช้เทคนิคเก็บไข่ที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาเป็นเวลาหลายปี
แจน สเตจสกัล (Jan Stejskal) จากสวนสัตว์ดวูร์ คราเลิฟ (Dvur Kralove Zoo) ในสาธารณเช็ก กล่าวว่าความสำเร็จครั้งนี้เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ โดยพวกเขาเก็บโอโอไซต์ (oocytes) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์ของเพศเมีย ได้จำนวน 10 โอโอไซต์ ซึ่งเป็นจำนวนตามที่ตั้งความหวังไว้
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.2009 ทางสวนสัตว์แห่งนี้ยังเคยส่งแรดขาวเหนือเพศผู้จำนวน 4 ตัวไปยังเคนยาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการผสมพันธุ์
สเตจสกัลอธิบายต่อว่า หลังพบว่าแรดขาวเหนือตัวเมียทั้งสองตัวไม่เจริญพันธุ์แล้วเมื่อปี ค.ศ.2014 ก็มีสวนสัตว์ในยุโรป 15 แห่งให้ไฟเขียวเพื่อให้ใช้แรดขาวใต้ (southern white rhino) ตัวเมียเพื่อทดลองใช้เทคนิคการเก็บไข่ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ และเมื่อเดือน ก.ค.2018 เป็นครั้งแรกที่ตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอ (embryo) ของแรดถูกสร้างขึ้น โดยเป็นลูกผสมระหว่างแรดขาวเหนือและแรดขาวใต้
โอโอไซต์จากนาจินและฟาตุถูกขนส่งทางเครื่องบินไปยังห้องปฏิบัติการในอิตาลี ซึ่งเป็นสถานที่ในการผสมพันธุ์ไข่กับสเปิร์มแช่งแข็ง ที่ได้จากแรดขาวเหนือตัวผู้ 4 ตัวที่ตายไปแล้ว
ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาเทคนิคเพื่อถ่ายฝากตัวอ่อนไปยังแม่แรดอุ้มบุญ โดยมีความพยายามนี้ในแรดขาวใต้ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อเก็บไข่จากแรดขาวเหนือตัวเมียที่ยังมีชีวิตให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
ทีมงานในโครงการขยายพันธุ์แรดขาวเหนือนี้ประกอบด้วยโอลเพเจตา, อาแวงที (Avantea) ห้องปฏิบัติการทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากอิตาลี, สวนสัตว์ดวูร์ คราเลิฟ ( Dvur Kralove) ในสาธารณรัฐเช็ก, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเคนยา (Kenya Wildlife Service: KWS) และสถาบันเพื่อการวิจัยสวนสัตว์และสัตว์ป่าไลบ์นิซ (Leibniz Institute for Zoo and Wildlife Research) ในเยอรมนี
แฟรงก์ กอริตซ์ (Frank Goritz) หัวหน้าสัตวแพทย์สถาบันไลบ์นิซระบุว่า ในฐานะนักวิทยาศาสตร์แล้วพวกเขาได้รับทั้งผลและข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับชีววิทยาการขยายพันธุ์ และการช่วยเหลือการขยายพันธุ์ ซึ่งสามารถและนำไปช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่นได้ โดยที่สัตว์สปีชีส์อื่นไม่ได้เข้าใกล้ภาวะสูญพันธุ์มากเท่าแรดขาวเหนือ
ด้าน ริชาร์ด วิญ (Richard Vigne) ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการของสำนักอนุรักษ์โอลเปเจตา กล่าวว่าความพยายามที่ฟื้นคืนชีพให้สปีชีส์ที่กำลังสูญพันธุ์ เป็นสิ่งสำคัญที่เน้นย้ำให้เห็นว่าวิกฤตการสูญพันธุ์ในปัจจุบันนั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องรับผิดชอบ
ตอนนี้มีแรด 5 สปีชีส์ที่เหลืออยู่บนโลก โดยแรดขาวและแรดดำนั้นพบได้ในแอฟริกา ส่วนแรดขาวเหนือนั้นเข้าใจโดยทั่วไปว่าเป็นสปีชีส์ย่อยของแรดขาว แม้ว่าจะมีนักวิทยาศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าเป็นแรดสปีชีส์ที่ 6 บนโลก
จากขนาดตัวของแรดทำให้แรดมีผู้ในธรรมชาติอยู่น้อย แต่ถูกลดจำนวนลงไปมหาศาลจากการเพื่อเอานอ ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาของแพทย์แผนจีน
ทั้งนี้ แรดยุคใหม่นั้นเดินย่ำบนโลกมาแล้ว 26 ล้านปี และเมื่อช่วงกลางศตวรรษที่ 19 มีแรดในแอฟริกามากกว่า 1 ล้านตัว แต่จำนวนแรดก็ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ.2011 แรดดำตะวันตกถูกประกาศว่าสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หากการทำแรดหลอดแก้วประสบความสำเร็จ ก็อาจจะมีลูกแรดขาวเหนือหลายตัวกำเนิดออกมา แต่วิธีการให้ถึงจุดหมายนั้นยังมีข้อจำกัด
อีกข้อจำกัดคือการเก็บไข่ของตัวเมียนั้นทำได้เพียงปีละ 3 ครั้ง และการขาดความหลากหลายทางพันธุกรรมยังเป็นอุปสรรคในการอยู่รอดของสปีชีส์ แต่คณะทำงานของทีมนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติในชื่อทีมไบโอเรสคิว (BioRescue) ก็พยายามสร้างเซลล์เพศประดิษฐ์ที่เรียกว่า “แกมีต” (gamete) จากสเต็มเซลล์ ที่ถ่ายโอนจากเนื้อเยื่อแช่แข็งของสัตว์ตัวอื่นที่ไม่สัมพันธ์กับแรดขาวเหรือ เพื่อสร้างความหลากหลายให้ยีน
แรดเหนือขาวนั้นเคยมีอยู่ทั่วอูกานดา, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, ซูดานและชาด ซึ่งหวังกันว่าประชากรที่จะฟื้นคืนมานั้นจะกลับคืนแหล่งอาศัยที่ได้รับการรักษาความปลอดภัยภายในประเทศเหล่านี้ โดยคาดว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 70 เพื่อฟื้นคืนจำนวนประชากรแรดที่กำลังจะสูญพันธุ์นี้

ที่มา : Manager online 3 กันยายน 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000084785]