หุ่นยนต์ช่วยเด็กสมองพิการ นวัตกรรมฟื้นฟูแขนขาอ่อนแรง – กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) คิดค้นออกแบบ Robotic Assisted Gait Training หุ่นยนต์สำหรับช่วยฟื้นฟูเด็กสมองพิการแขนขาอ่อนแรงและมีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวได้สำเร็จสมบูรณ์เป็นครั้งแรกในไทย ก้าวสู่นวัตกรรมเพื่อแข่งขัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ Health, Wellness and Bio-Med ในเวทีโลก
โดย นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพและการแพทย์มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากตลาดเครื่องมือแพทย์จากทั่วโลกที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าร้อยละ 6.4 ต่อปี
จึงทำให้ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพต่อเศรษฐกิจ ไทยจึงได้กำหนดเรื่องการแพทย์และสาธารณสุขไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายอนาคตของไทยในปี 2579 เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือที่รู้จักกันในนาม Medical Hub โดยส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำ Roadmap ในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness and Bio-Med) ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์เพื่อผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub ของอาเซียนภายในปี 2568 ประกอบกับธุรกิจ โรงพยาบาลรัฐและเอกชนกำลังเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ ทำให้มีการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับบริการของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ส่วนใหญ่ของไทยยังขาดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นของตนเอง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 สร้างหุ่นยนต์สำหรับช่วยฟื้นฟูเด็กสมองพิการแขนขาอ่อนแรงและมีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวได้สำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย ก้าวสู่นวัตกรรมเพื่อแข่งขันเทคโนโลยีทางการแพทย์ Health, Wellness and Bio-Med ในเวทีโลก
นายถาวร ขาวแสง ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า หุ่นยนต์สำหรับช่วยฟื้นฟูเด็กสมองพิการแขนขาอ่อนแรงและมีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ลักษณะเป็นเครื่องมือฝึกเดินบนลู่ร่วมกับการมีระบบพยุงตัวขณะฝึกเดิน โดยใช้แรงจากการขับเคลื่อนของมอเตอร์ชดเชยการก้าวขาให้กับเด็กพิการแขนขาอ่อนแรง
ซึ่งในการใช้เครื่องมือจะต้องมีนักกายภาพบำบัดเป็นผู้ดูแลและประเมินให้เด็กฝึกเดินบนเครื่องที่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะวงรี การทำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องจะทำให้เด็กมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จุดเด่นของเครื่องมือนี้คือ ใช้ง่าย มีที่วางเท้าซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนและออกแรงชดเชยให้เกิดการก้าวขา
สำหรับหน่วยงานภาครัฐหรือผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดหุ่นยนต์สำหรับช่วยฟื้นฟูเด็กสมองพิการแขนขาอ่อนแรงและมีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ได้ที่คุณนคร วรารัตน์ ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 หมายเลขโทรศัพท์ 0-5311-2220 ในวันและเวลาราชการ
ที่มา : Khaosod online 9 กันยายน 2562 [https://www.khaosod.co.th/sci-tech/news_2868395]