เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง โพสต์ผลการศึกษาไมโครพลาสติก(Microplastics) ในปลาทู บริเวณเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง ระบุว่าเก็บตัวอย่างจากท่าเรือบริเวณหาดเจ้าไหม เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติกจากการกินอาหารของปลาทู Rastrelliger brachysoma (Bleeker, 1851)

โดยพบว่าปลาทูขนาดน้ำหนักเฉลี่ย 66.53 ± 1.136 กรัม (ค่า เฉลี่ย ± SE) ความยาวมาตรฐานเฉลี่ย 17.46 ± 0.087 (ค่าเฉลี่ย ± SE) เซนติเมตร มีไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78.04 ± 6.503 ชิ้น/ตัว ประกอบไปด้วยลักษณะที่เป็นเส้นใย (สีดำน้ำเงิน แดง และเขียว) ชิ้น (สีดำ ขาว แดง น้ำตาล-ส้ม ฟ้า-น้ำเงิน และเหลือง) แท่งสีดำ และกลิตเตอร์ ซึ่งลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นสีดำ ด้วยค่าร้อยละ 33.96
ไมโครพลาสติก (Microplastics) อยู่กับมนุษย์ตลอดเวลา
ไมโครพลาสติก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้น การที่สัตว์ทะเลกินอาหารซึ่งปนเปื้อนไปด้วยไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายไม่สามารถขับออกได้ จึงสะสมภายในตัวของสัตว์เหล่านี้ และเมื่อกระเพาะอาหารของมันเต็มไปด้วยไมโครพลาสติกก็จะไม่มีพื้นที่พอสำหรับอาหารที่จำเป็นต่อพวกมัน ส่งผลต่อสุขภาพและทำให้มันตายลงในที่สุด
แน่นอนว่ามนุษย์ซึ่งกินสัตว์น้ำเป็นอาหารย่อมได้รับไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในตัวสัตว์น้ำเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ที่สุดแล้วพลาสติกเหล่านี้ก็จะอยู่ในตัวมนุษย์ แต่ไม่ต้องตื่นตระหนกกันเนื่องจากยังไม่มีการรายงานถึงผลกระทบที่อันตรายต่อมนุษย์
ทุกวันนี้มนุษย์มีความเกี่ยวข้องกับพลาสติกจนแทบจะแยกกันไม่ออก พลาสติกอยู่ในของเกือบทุกสิ่งที่เราใช้ ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก ด้ามปากกา เป็นต้น ซึ่งจริง ๆ แล้วพวกมันก็คือกลุ่มของพอลิเมอร์อินทรีย์ที่ได้จากปิโตรเลียม โดยรวมถึงพอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride,PVC), ไนลอน (Nylon), พอลิเอทิลีน (Polyethylene, PE), พอลิสไตรีน (Polystyrene, PS) และพอลิโพรไพลีน (Polypropylene, PP) ทั้งนี้พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรลงไป หรือมีขนาดอยู่ในช่วง 1 นาโนเมตรจนถึง 5 มิลลิเมตร เราจะเรียกมันว่า "ไมโครพลาสติก"

ที่มา : Manager online 10 กันยายน 2562  [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000087108]