นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีของผู้ที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อสตาร์ตอัปสัญชาติญี่ปุ่น ในชื่อ “ควอนตัม” (Quantum) ได้นำ เปลือกหอยเชลล์ ที่เป็นขยะจากอุกสาหกรรมอาหารทะเลมาเปลี่ยนเป็นหมวกกันน็อคจากเปลือกหอย ในชื่อ “โฮตาเมท” (HOTAMET)

.

โฮตาเมทหมวกกันน็อคจากเปลือกหอย เป็นการนำเปลือกหอยเชลล์ ที่เป็นขยะจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลของ หมู่บ้านซารุฟุสึ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้ผลิตขยะเปลือกหอยได้มากถึง 40,000 ตันต่อปี และมันถูกกองเป็นภูเขาอยู่ในหมู่บ้าน หลังจากรัฐบาลยุติการส่งออกเปลือกหอยไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อรีไซเคิล และขยะเปลือกหอยเหล่านี้หากถูกทิ้งทับถมไว้นาน ๆ และไม่ถูกนำไปจัดการอย่างถูกต้อง พวกมันจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของดิน และทำให้คุณภาพของดินเสื่อมถอยลง จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศท้องถิ่นในระยะยาว อีกทั้งยังไม่ทำให้เกิดรายได้กับคนในหมู่บ้าน

.

ด้วยความคิดสุดล้ำผสมผสานกับไอเดียรักษ์โลก ขยะที่ไร้ประโยชน์นี้จึงได้กลายมาเป็น หมวกกันน็อคจากเปลือกหอย โดยเป็นการนำเปลือกหอยเชลล์ไปต้มในน้ำเดือด และทำการสเตอร์ไรด์ (Sterile) หรือฆ่าเชื้อทีละชิ้น ก่อนจะนำไปบด แล้วอัดเป็นเม็ดเล็กๆ ผสมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าไป เพื่อเสริมคุณสมบัติด้านความทนทาน เนื่องจากธรรมชาติของเปลือกหอยนั้นมีคุณสมบัติแข็งแต่เปราะ จากนั้นนำวัตถุดิบไปขึ้นพิมพ์เป็นหมวกกันน็อคที่เลียนแบบลวดลายของเปลือกหอย และหมวกกันน็อคนี้มีน้ำหนักโดยประมาณเพียง 400 กรัม เท่านั้น

.

ในเรื่องของลวดลายหมวกกันน็อคที่มีการออกแบบให้มีความคล้ายกับลายเปลือก ยังมีส่วนช่วยในการเพิ่มความทนทานขึ้นอีก 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับรูปทรงปกติ ทำให้ใช้งานได้นานในหลากหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่ในไซต์ก่อสร้าง, สวมใส่เมื่อเกิดภัย สวมในขณะปั่นจักรยาน หมวกกันน็อครักษ์โลกนี้ จะเริ่มมีการวางจำหน่ายในปี 2023 นี้ ในราคาประมาณ 4,800 เยน หรือประมาณ 1,200 บาท

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000000742