ผลงานการคิดค้นของนิโคลา เทสลา ช่วยส่งบทความที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้มายังเครื่องมือสื่อสารที่คุณกำลังใช้อ่านอยู่

สำหรับไมเคิล เคราส์ นักประวัติศาสตร์และคนทำหนัง เทสลาไม่ใช่แค่บิดาแห่งไฟฟ้าและการสื่อสารข้ามโลกเท่านั้น "เขามีความคิดที่ไปไกลกว่ายุคสมัยตัวเอง เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ที่มีส่วนพัฒนามนุษยชาติ"

.

ไอวาน ริส มอรัส นักประวัติศาสตร์ ระบุในหนังสือ Nikola Tesla and the Electrical Future ของเขาว่า ก่อนหน้ายุคเทสลา ไฟฟ้าเป็นแค่เรื่องของอนาคต คนส่วนใหญ่ต้องไปยังสถานที่เฉพาะ เพื่อดูการสาธิตกระบวนการใช้กระแสไฟฟ้า

.

แต่ไม่นานหลังจากนั้น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

.

ไฟส่องสว่าง

นิโคลา เทสลา ขณะบรรยายที่กรุงปารีส

เทสลา เกิดเมื่อปี 1856 ที่จักรวรรดิออสเตรียในสมัยราชวงศ์ฮับสเบิร์ก (บ้านเกิดของเขาอยู่ในโครเอเชียในปัจจุบัน ส่วนครอบครัวเขาเป็นชาวเซอร์เบีย)

.

เขาเดินทางมาที่นิวยอร์กเพื่อทำงานให้กับนักธุรกิจและ โททัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ชื่อดัง

.

นักเขียนชีวประวัติ อิเนซ วิตเทเกอร์ ฮันต์ บอกว่า เทสลา มาสหรัฐฯ โดยแทบไม่มีเงิน แต่มีสูตรคำนวณที่จะทำให้เครื่องบินบินได้ติดตัวมาด้วย

.

แต่จะไม่ใช่เครื่องบินที่ทำให้เขามีชื่อเสียงที่สุด หลายปีก่อนหน้านั้นเขาได้ศึกษาเรื่องระบบไฟฟ้ากระแสสลับมาจนเชี่ยวชาญแล้ว และมาถึงนิวยอร์กอย่างถูกเวลาเพราะเป็นช่วงที่มีการแข่งขันกันระหว่างระบบกระแสไฟฟ้าสองแบบอยู่พอดี

.

ให้พลังงานไฟฟ้าแก่โลก

ในตอนนั้นโลกกำลังพัฒนาและต้องการพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ เลยมีการแข่งขันเพื่อจะหาหนทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าไปยังเครื่องมือและเปิดไฟเพื่อให้ความสว่าง

.

ในขณะที่โทมัส เอดิสัน กำลังลงทุนและพยายามผลักดันให้ส่งกระแสไฟฟ้าผ่านระบบไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current - DC) วิศวกรอย่าง จอร์จ เวสติงเฮาส์ พยายามผลักดันให้คนใช้ระบบไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating Current - AC)

.

เทสลาได้ทดลองระบบไฟฟ้ากระแสสลับมาตั้งแต่ตอนที่เขาอยู่ยุโรปแล้ว ไฟฟ้ากระแสสลับเป็นกระแสที่ไหลไปหลายทิศทาง และสามารถเดินทางไปได้ไกลกว่า เมื่อสามารถเดินทางไปได้ไกลกว่า มันก็สามารถนำพลังงานไฟฟ้าไปสู่ที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น

.

พิพิธภัณฑ์นิโคลา เทสลา ที่กรุงเบลเกรด

หลังจากโทมัส เอดิสัน ยืนยันจะใช้ระบบไฟฟ้ากระแสตรง ทั้งสองก็แยกทางกัน และเวสติงเฮาส์ก็ซื้อสิทธิบัตรระบบหม้อแปลงไฟฟ้าและเครื่องยนต์แบบไฟฟ้ากระแสสลับจากเทสลาไป

.

ระบบดังกล่าวที่คิดค้นโดยเทสลาช่วยให้สามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปที่ที่อยู่ห่างไกลอย่างประหยัดงบ และก็เป็นระบบที่ยังใช้กันอยู่ถึงทุกวันนี้

.

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ

รูปปั้นของเทสลาที่บริเวณห้องทดลองของเขาในนิวยอร์ก

นอกจากนี้ ในปี 1891 เทสลายังคิดค้นขดลวดเทสลา (Tesla coil) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ปล่อยกระแสพลังงานไฟฟ้าออกมา โดยเป็นการพยายามที่จะส่งกระแสไฟฟ้าแบบไร้สายให้ได้ และระบบดังกล่าวก็ยังถูกใช้กันอยู่ทุกวันนี้ในวิทยุ โทรทัศน์ และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ

.

สองปีต่อมา เขากลายเป็นคนดังขึ้นไปอีกหลังเป็นผู้สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกของโลกที่น้ำตกไนแอการา โดยเทสลาเป็นเจ้าของสิทธิบัตร 9 จากทั้งหมด 13 ฉบับที่ใช้ในการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนั้น

.

หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ก่อตั้งห้องทดลองของตัวเองและเริ่มทดลองด้านการสื่อสารและการส่งกระแสไฟฟ้าแบบไร้สาย

.

อนาคตที่ไร้สาย

เทสลาในห้องทดลองด้านกระแสไฟฟ้าแบบไร้สาย

เงินลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่การคิดค้นประดิษฐ์นวัตกรรมต่าง ๆ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1890s เทสลาได้ทุนจากนักการเงินชาวอเมริกา เจ.พี. มอร์แกน และเขาก็เริ่มสร้างเสากระจายสัญญาณแบบไร้สาย โดยมีเป้าหมายให้คนทั่วโลกสื่อสารถึงกันได้ เป็นระบบไร้สายซึ่งจะทำให้คนสื่อสารทางเสียงและวิดีโอกันได้โดยทันที โดยข้อมูลจะถูกส่งไปถึงทุกคนได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลกก็ตาม

.

แต่แล้ว มอร์แกนก็เลิกสนับสนุนเขา

.

"โชคไม่ดีที่ความฝันสูงสุดของเขาซึ่งคือระบบที่ให้กระแสไฟฟ้าและการสื่อสารกับคนแบบข้ามชาติ ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะเขายังไปไม่ถึงจุดนั้น และก็ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ล้ำพอ" ไมเคิล เคราส์ กล่าว

.

จากนั้น เทสลาก็ยังคงทำการทดลองอีกหลายโครงการแต่ก็มักไม่มีทุนสนับสนุน ความคิดหลายอย่างของเขาถูกจำกัดอยู่บนหน้าสมุดโน้ตเท่านั้นเพราะเขาไม่เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยการร่วมมือของคนหลายฝ่าย

.

นักประวัติศาสตร์อย่าง ไอวาน ริส มอรัส มองว่าความผิดพลาดใหญ่หลวงของเทสลาคือการคิดว่าเขาเป็นคนเดียวเท่านั้นที่สามารถทำได้ และไม่คิดจะร่วมมือกับคนอื่น

.

เขากลายเป็นที่รู้จักในฐานะชายผู้แปลกประหลาด หมกมุ่นอยู่กับการกลัวเชื้อโรค และก็ถูกวิจารณ์เรื่องการคาดเดาเรื่องการติดต่อสื่อสารกับดาวดวงอื่น ๆ

.

การตายของเทสลา

พิพิธภัณฑ์นิโคลา เทสลา ที่กรุงเบลเกรด

เทสลาเสียชีวิตเมื่อปี 1943 ที่โรงแรมในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่ที่เขาใช้เวลาทศวรรษสุดท้ายของชีวิต

.

ในปี 1955 พิพิธภัณฑ์นิโคลา เทสลา เปิดตัวที่กรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย ซึ่งที่เป็นเก็บเอกสาร แผนผัง ภาพร่าง และรูปถ่าย 160,000 ชิ้นไว้

.

ภายในพิพิธภัณฑ์นิโคลา เทสลา

ในปี 1956 มีการตั้งชื่อหน่วยในสนามแม่เหล็กตามชื่อเขา ในเซอร์เบีย ถนน โรงเรียน และสนามบิน ถูกตั้งชื่อตามเขา และทั้งในเซอร์เบียร์ และโครเอเชีย หน้าของเทสลาไปปรากฏอยู่บนทั้งพันธบัตรและเหรียญ

.

ในปี 2018 บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าชื่อดังในสหรัฐฯ ของอีลอน มัสก์ ก็ถูกตั้งชื่อตามนักประดิษฐ์คนนี้

.

แม้เทสลาจะอยู่ไม่ทันเห็นความฝันเขาเป็นจริง แต่ชีวิตเราจะไม่เป็นอย่างทุกวันนี้หากไม่มีสิ่งประดิษฐ์โดยชายคนนี้

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/international-64190566