สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 66 : ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก “กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนบนผืนผ้าแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์” ยกระดับนวัตกรรมเวชภัณฑ์ไทยสู่สากล

.

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ประกาศรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 รางวัลระดับดีมาก สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ได้แก่ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนบนผืนผ้าแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์

.

โดย ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ หัวหน้าโครงการวิจัย และ นางสาวลลิตภัทร ศุภประภากร ทีมนักวิจัยและคณะจากกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยผู้ประดิษฐ์เข้ารับรางวัลและจัดแสดงผลงานในงานวันนักประดิษฐ์ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนากรุงเทพมหานคร

.

ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนบนผืนผ้า หรือเข็มขนาดไมโครเมตร เป็นโครงสร้างขนาดเล็กที่มีปลายเข็มขนาดเล็กกว่า 10 ไมโครเมตร เล็กกว่าเส้นผมเกือบสิบเท่า ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับเป็นสื่อในการรับส่งสาระสำคัญหรือสัญญาณต่าง ๆ ระหว่างภายในและภายนอกร่างกายผ่านทางผิวหนัง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของแพทย์และผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ เนื่องจากไม่ทิ้งร่องรอยแผลถาวรหลังการใช้งาน และผู้ใช้ไม่รู้สึกเจ็บ ทำให้ต่อยอดสู่ด้านการแพทย์เพื่อใช้นำส่งยา เวชภัณฑ์ หรือ วัคซีน เปิดโอกาสสู่การใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ได้ไร้ขีดจำกัด แต่ในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการผลิตที่ยังไม่สามารถผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนบนผืนผ้าแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์จึงเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดกำลังการผลิตของเทคโนโลยีเดิม สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วและมีกำลังการผลิตมากกว่าคู่แข่งถึง 25 เท่า กระบวนการนี้เป็นเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นสูงสามารถปรับเปลี่ยนให้มีลักษณะต่าง ๆ เช่น รูปร่างของเข็ม จำนวนเข็มต่อพื้นที่ หรือความยาวของเข็ม ให้จำเพาะต่อการประยุกต์ในแต่ละด้านอย่างการนำส่งยา สารสำคัญ แสง คลื่นไฟฟ้า หรือแรงเชิงกล เข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ ทำให้สามารถออกแบบได้ตามความต้องการของตลาด สามารถพัฒนาเป็นสินค้านวัตกรรมเข็มไมโครนีดเดิลให้เหมาะสมกับผู้บริโภคทุกช่วงวัย โดยการพัฒนาและออกแบบได้ดำเนินงานภายใต้ระบบบริหารจัดการคุณภาพเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 สามารถเพิ่มผลผลิตและสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความพร้อมสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยเทคโนโลยีการผลิตเข็มไมโครนีดเดิลบนผ้าที่สร้างจุดเปลี่ยนและยกระดับไมโครนีดเดิลไทยสู่อุตสาหกรรมระดับสากล

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000003567