ภาพไฟไหม้บนภูเขาสูงในพื้นที่เตรียมการอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต เมื่อวันที่ 3 มี.ค.

ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครหลังจากนี้ไปมีแนวโน้มคลี่คลาย แต่ในเขตภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงน่าวิตก เนื่องจากยังพบว่า มีจุดความร้อน จำนวนมากเกิดขึ้นในพื้นป่าอนุรักษ์

.

ข้อมูลกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ วันที่ 9 มี.ค. ระบุว่า ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 พบจุดความร้อน (hotspot) สะสมทั้งประเทศ 76,377 จุด โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ในเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ

.

ขณะที่จุดความร้อน (จุดที่ดาวเทียมตรวจพบว่า เป็นพื้นที่ที่มีค่าความร้อนสูงผิดปกติ) ที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงเช้าที่ผ่านมามีอย่างน้อย 424 จุด พื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามแนวโน้มที่ผ่านมาคือ เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยภาคที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ ภาคเหนือ 133 จุด รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 54 จุด และภาคกลางและภาคตะวันตกรวมกัน 34 จุด

.

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา จุดความร้อนและไฟป่าได้สร้างผลกระทบต่อพื้นป่าไปแล้วเป็นบริเวณกว้าง รวมทั้งส่งกระทบต่อบรรดาสัตว์ต้องหนีตายและอพยพ อย่างเช่น เมื่อวันที่ 3 มี.ค. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค และชุดปฏิบัติการพิเศษกาญจนบุรี ได้รายงานว่าพบ ช้างป่าออกจากพื้นที่ป่าเนื่องจากอาจจะได้รับผลกระทบจากไฟป่า เป็นต้น

.

ไฟป่าเกือบทั้งหมดเกิดจากฝีมือมนุษย์

สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยกับบีบีซีไทยว่า จากข้อมูลและสถิติ hotspot ที่ทางกรมฯ รวบรวมมากว่า 30 ปี มีหลักฐานบ่งชี้ว่าไฟป่าส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น เป็นฝีมือมนุษย์กว่า 99% โดยมีเพียง 1% เท่านั้น ที่เกิดจากฝีมือธรรมชาติ

.

สาเหตุที่เกิดไฟป่าส่วนใหญ่ มาจากการที่มีคนเข้าไปล่าสัตว์หรือหาของป่า แล้วมีการจุดไฟ รวมถึงการจุดไฟเผาปรับหน้าดินในพื้นที่ไร่ของชาวบ้านที่มีเขตแดนติดกับบริเวณป่า

.

ส่วนตัวเลขจุดความร้อนสะสมในปีนี้ที่สูงถึง 76,377 จุด ทางกรมยังถือว่ายังเป็นตัวเลขที่รับได้ ถึงแม้ว่าจะสูงกว่าตัวเลขสะสมในปี 2565 ที่ 54,900 จุดก็ตาม

.

“ช่วงปี 2565 เป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญา ฝนตกเกินค่าเฉลี่ย ทำให้จำนวน hotspot น้อยลง แต่มันก็ทำให้มีการสะสมของใบไม้ที่ร่วงหล่นบนพื้นป่า ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะสมมาสำหรับฤดูกาลไฟป่าปีนี้”

.

สถิติจุดความร้อนย้อนหลัง 5 ปี

“เราคาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ ต.ค. ปีที่แล้ว ว่าจำนวน hotspot ในปีนี้จะสูง และตัวเลขปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้”

.

สำหรับแนวทางป้องกันทางกรมได้ตระเตรียมการไว้ โดยปัจจุบันมีกำลังพล 6,570 นาย คอยดูแลในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เกิดไฟป่า

.

ส่วนจุดความร้อนที่พบในประเทศเพื่อนบ้าน ทางกรมฯ เผยว่าในส่วนของแต่ละพื้นที่ก็จะมีการประสานงานกันแล้วเพื่อร้องขอคนในพื้นที่ใกล้เคียงให้งดหรือลดการเผาที่เกิดมลพิษลง

.

FACEBOOK/กรมอุทยานแห่งชาติฯ

ชุดข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับการรายงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ที่อ้างถึงข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ก็พบจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เช่นกัน นอกจากจุดความร้อนที่พบในประะเทศเพื่อนบ้าน

.

สำหรับผลกระทบที่ตามมาที่ต้องเฝ้าระวังจากเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านคือ ปัญหา PM 2.5 ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ใกล้เคียง

.

ด้านกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ประเมินว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในวันพรุ่งนี้ (10 มี.ค.) อาจจะสูงขึ้นในบางพื้นที่ แต่หลังจากวันที่ 11 มี.ค. จะมีแนวโน้มคลี่คลายลง

.

ทว่า พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือกลับมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่างวันที่ 10-14 มี.ค. นี้

.

อย่างไรก็ตาม สำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชคาดการณ์ว่าแนวโน้มจุดความร้อนจะลดลงก่อนที่จะหมดไปในช่วงหน้าฝน

.

ภาพถ่ายสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่กรุงเทพมหานครเมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมายังวิกฤต

ประวิตร กำชับให้แต่ละจังหวัดออกประกาศห้ามเผาในทุกพื้นที่
ความเคลื่อนไหวด้านรัฐบาลล่าสุด พล.อ.คงชีพ ตันตระวานิชย์ โฆษก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ กระทรวงทรัพยากรฯ ประสานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจ ด้วยการสื่อสารเชิงรุก รวมทั้งยกระดับปฏิบัติการและสร้างการมีส่วนร่วม ในการแก้ปัญหาเร่งด่วนใน 3 พื้นที่ ทั้งพื้นที่เมือง พื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ใน 7 มาตรการ

.

โดยให้เร่งการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ และการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ส่วนหน้าภาคเหนือ การสร้างเครือข่ายชุมชนปลอดคนเผาในพื้นที่เสี่ยง การบริหารจัดการเชื้อเพลิงครบวงจร ชิงเก็บลดเผาในพื้นที่โล่ง

.

เจ้าหน้าที่ใช้เฮลิคอปเตอร์โปรยน้ำเพื่อดับไฟป่า

นอกจากนี้ โฆษกของ พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวว่า รองนายกฯ ยังได้กำชับ ในพื้นที่เมือง ให้กำหนดมาตรการนำรถเก่าออกจากระบบ ทดแทนด้วยรถใหม่มลพิษต่ำ พื้นที่เกษตร ให้เข้มงวดพื้นที่เพาะปลูก อ้อย ข้าวและข้าวโพด และพื้นที่ป่า ให้ติดตามและจุดความร้อน โดยได้ย้ำสั่งการเข้มและขอความร่วมมือ มท. กำชับ จว.ออกประกาศห้ามเผาในทุกพื้นที่ และใช้กลไกระดับพื้นที่ลงกำกับเข้มทำความเข้าใจกับเกษตรกร และบูรณาการการทำงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

.

สธ. เผย 3 เดือนแรก ฝุ่นพิษทำให้มีผู้ป่วย 1.32 ล้านราย
ผลกระทบจากวิกฤตฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 6-8 มี.ค. มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

.

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยวานนี้ (8 มี.ค.) ว่าฝุ่น PM 2.5 เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่ต้องเผชิญกับปัญหานี้ติดต่อกันเกิน 3 วันแล้ว โดยใน 15 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือ อาทิ น่าน, เชียงใหม่, เชียงราย, แพร่, พะเยา, ลำพูน, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน เป็นต้น

.

"ค่าฝุ่น PM 2.5 ปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปี 2564 และ 2565 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด 19 การเดินทางน้อย ทำให้มีค่าฝุ่นน้อย อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ วันที่ 9-14 มี.ค.โดยกรมควบคุมมลพิษ พื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากมีลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ส่วนภาคเหนือตอนบนและตอนล่างยังมีแนวโน้มสูงขึ้น" นพ.โอภาสกล่าว

.

จากการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 5 มี.ค. พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 ราย โดยสัปดาห์นี้พบผู้ป่วย 196,311 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พบ 161,839 ราย

.

กลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ประกอบด้วย

กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 583,238 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 85,910 ราย
กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 267,161 ราย เพิ่มขึ้น 35,878 ราย
กลุ่มโรคตาอักเสบ 242,805 ราย เพิ่มขึ้น 36,537 ราย
โรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 ราย เพิ่มขึ้น 33,413 ราย

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c4n0n027q7eo