หมอกควันและฝุ่นพิษปกคลุมเหนือนครลอสแอนเจลิสของสหรัฐฯ

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาตินำโดยมหาวิทยาลัยโมนาชของออสเตรเลีย เผยผลการศึกษาด้านมลพิษทางอากาศที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยพบว่าตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีประชากรโลกเพียง 0.001% ได้รับอากาศบริสุทธิ์ที่มีมลพิษในระดับต่ำ ทำให้ปัจจุบันแทบจะไม่มีสถานที่แห่งใดในโลกปลอดจากหมอกควันและฝุ่นพิษอีกแล้ว

.

ผลวิจัยดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet Planetary Health ระบุว่าข้อมูลระหว่างปี 2000 - 2019 ชี้ว่าคุณภาพอากาศทั่วโลกมีแนวโน้มย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 2019 เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกมีจำนวนวันที่ค่ามลพิษรวมทั้งฝุ่นละเอียด PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานบ่อยถึง 70% หรือเกือบตลอดทั้งปี

.

ทั่วทุกภูมิภาคของโลกยังมีค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของฝุ่นพิษดังกล่าวถึง 32.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึงสองเท่า

.

มีการติดตามเก็บข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 5,446 แห่ง ใน 65 ประเทศ ตลอดระยะเวลาร่วม 20 ปี ทำให้พบว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีสภาพการณ์ด้านมลพิษทางอากาศเลวร้ายที่สุดในโลก โดยมีค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของฝุ่นพิษ PM 2.5 สูงถึง 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในแต่ละปี รองลงมาคือภูมิภาคเอเชียใต้ซึ่งมีค่าเฉลี่ยของ PM 2.5 อยู่ที่ 37.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนอันดับสามคือภูมิภาคแอฟริกาเหนือที่ 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

.

ค่าเฉลี่ยของ PM 2.5 ในแต่ละปี ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ละจุดบนแผนที่คือสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ

อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนของโลกที่ปริมาณของฝุ่นพิษยังคงไม่สูงมากนัก โดยออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีค่าเฉลี่ยของ PM 2.5 ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเพียง 8.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามมาด้วยภูมิภาคโอเชียเนียและอเมริกาใต้ที่ 12.6 และ 15.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ

.

ส่วนแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงด้านมลพิษทางอากาศของทั่วโลก ตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าฝุ่น PM 2.5 ในภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือมีแนวโน้มลดต่ำลง ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อเมริกาใต้, และหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียนกลับมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น

.

แผนภาพแสดงความเปลี่ยนแปลงของค่า PM 2.5 ทั่วโลก ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

มลพิษจากฝุ่น PM 2.5 มักมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามฤดูกาล โดยในทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนและภาคเหนือของอินเดีย การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อให้ความอบอุ่นในครัวเรือน ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในปริมาณสูงสุดในช่วงฤดูหนาว แต่แถบชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือและทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ไฟป่าคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในช่วงฤดูร้อน

.

ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศถึง 8 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นละเอียด PM 2.5 นั้น สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจส่วนลึกและเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดโรคร้ายแรงอย่างเช่นมะเร็งปอด, โรคหัวใจ, และโรคหลอดเลือดสมองได้

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cy9d4ql1xjpo