นักวิจัยไทย ร่วมนำเสนอ "การบริหารจัดการน้ำ" ซึ่งจัดโดย UNCTAD ณ กรุงเจนีวา มุ่งสร้างความมั่นใจต่อน้ำปลอดภัยและสุขาภิบาลสำหรับทุกคน ด้วยคำตอบจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อช่วยการบริหารน้ำเขื่อน ชลประทานและชุมชน

.

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการจัดการน้ำ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยถึงการเข้าร่วมประชุม Commission on Science and Technology for Development ครั้งที่ 26 (26th CSTD) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 27-31 มีนาคม 2566 ว่าในการประชุมวันแรกได้เข้าสังเกตการณ์การนำเสนอรายงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2023 ที่จัดทำโดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD ซึ่งเน้นการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาเปิดโอกาสของโลกสีเขียว โดยเฉพาะการปรับปรุงสินค้าและบริการเพื่อลดคารบอนฟุตพริ้นท์

.

ทั้งนี้ ผู้นำเสนอระบุว่าโลกได้เข้าสู่ยุคการปฏิวัติเทคโนโลยีสีเขียว และประเทศกำลังพัฒนาควรเข้าการปฏิบัติครั้งนี้ตั้งแต่ระยะต้น ขณะที่ผู้แทนประเทศเข้าร่วมได้ให้ความเห็นเพิ่มเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว รวมถึงเน้นเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความปลอดภัยของข้อมูล ฯลฯ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระหว่างประเทศ

.

สำหรับการประชุม 26th CSTD ของผู้บริหารของประเทศสมาชิก เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา มีการรายงานผลการประชุมของปีก่อนที่จัดทำโดย UNCTAD ในเรื่องการสร้างความมั่นใจต่อน้ำปลอดภัยและสุขาภิบาลสำหรับทุกคน ด้วยคำตอบจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่ง รศ. ดร.สุจริต ในฐานะผู้แทนประเทศไทยได้รับเชิญให้นำเสนอกรณีตัวอย่างการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แก่สมาชิก CSTD ระดับผู้บริหารเพื่อเผยแพร่ และเรียนรู้ร่วมกัน โดยนักวิจัยได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาไปใช้ประโยชน์ ทั้งช่วยการบริหารน้ำเขื่อน ชลประทานและชุมชน เพื่อสร้างความมั่นใจต่อน้ำปลอดภัยและสุขาภิบาล โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยการบริหารการปล่อยน้ำเขื่อนทั้ง 4 เขื่อนหลักในภาคกลาง การจัดการน้ำในโครงการชลประทานท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร และการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำรองรับ ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในฤดูฝนเพื่อใช้ในฤดูแล้งปีต่อไป ลดความสูญเสียในการส่งน้ำ รวมถึงตกลงการจัดสรรและส่งน้ำร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทำให้เกษตรกรมั่นใจว่าจะได้น้ำทั้งในเชิงปริมาณและเวลา และสามารถปรับตัวโดยปลูกข้าวและเกษตรทางเลือกร่วมเพื่อเป็นรายได้เสริมตามปริมาณน้ำที่จัดสรร อันเป็นประโยชน์ในแง่ประหยัดน้ำ และเพิ่มมูลค่าจากการใช้น้ำ

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000030721