นวัตกรรมคือสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรต่างต้องการเพื่อสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะภายใต้สภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ที่มีความเปลี่ยนแปลงผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ อย่างที่เราเรียกกันว่า VUCA World (Volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity)

.

VUCA World ทำให้องค์กรที่จะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ต่อเนื่องนั้น ยิ่งต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง

.

จะทำอย่างไรให้องค์กรของเราสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง..นี่น่าจะเป็นโจทย์สำคัญของนักบริหารในยุคนี้

.

แมคโดนัลด์ (McDonald’s) ฟาสต์ฟู้ดแฟรนไชส์ที่เรารู้จักกันดี เรียนรู้เรื่องดังกล่าวนี้และสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดได้รับการจัดอันดับเป็นบริษัทนวัตกรรมยอดเยี่ยมของโลก (The World's Most Innovative Companies Of 2023) อันดับที่ 2 จาก Fast Company สื่อที่มีอิทธิพลต่อโลกธุรกิจ และดำเนินการจัดอันดับดังกล่าวนี้ทุกปี (อันดับที่ 1 คือ OpenAI ที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์สะเทือนโลกอย่าง Chat GPT)

.

จุดเด่นของแมคโดนัลด์คือ การเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการตอบสนองต่อกระแสและความต้องการของผู้บริโภคที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมตลอดเวลา อย่างเช่นในอดีตที่ได้เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์เมนูอาหารเช้ามาตลอดกว่า 50 ปี ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี ลดข้อจำกัดขององค์กรในการให้บริการอาหารประเภทแฮมเบอร์เกอร์แบบดั้งเดิม รวมทั้งสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ๆ อย่างแมคคาเฟ่ (McCafé) ให้เกิดขึ้นด้วย

.

จากข้อมูลของ Fast Company ถึงเหตุผลการจัดอันดับดังกล่าวในปีนี้คือ การที่แมคโดนัลด์แสดงออกอย่างชัดเจนถึงการเปิดโอกาสในการสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ จากลูกค้า โดยเฉพาะการใช้ช่องทาง Social Media ที่ได้รับความนิยมอย่าง TikTok จนติดเทรนด์ฮิตให้กับแมคโดนัลด์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการออกแบบแพ็คเกจเมนูที่เป็นเอกลักษณ์ของแมคโดนัลด์อย่าง Happy Meal จนเกิดเวอร์ชั่นของผู้ใหญ่ (The adult Happy Meal ประกอบด้วยบิ๊กแมค นักเกต เฟรนฟรายส์ เครื่องดื่ม และของเล่นสะสมที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มผู้ใหญ่)

.

การให้ความสำคัญกับลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางธุรกิจ ซึ่งอาจไปถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ ถือว่าเป็นส่วนที่องค์กรนวัตกรรมจะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ดังตัวอย่างความสำเร็จของแมคโดนัลด์นี้ (ที่มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นมาก และสร้างการเติบโตภาพรวมกว่า 10%)

.

องค์กรนวัตกรรม (Innovative Organization) มิได้เป็นองค์กรที่สามารถมีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาด และสร้างความสำเร็จทางธุรกิจให้ได้เท่านั้น แต่ยังต้องสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที โดยองค์กรที่จะเป็นองค์กรนวัตกรรมจำต้องมีการออกแบบและจัดการองค์กรอย่างเป็นระบบ ให้สามารถสนับสนุนกระบวนการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

.

ในแต่ละปีเช่นกัน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติหรือ NIA (National Innovation Agency) ได้มีการสรรหาและมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ โดยมีสาขาต่างๆ ซึ่งด้านการจัดการองค์กรก็ได้มีการมอบในสาขาองค์กรนวัตกรรมดีเด่น ที่เปิดโอกาสให้องค์กรประเภทต่างๆ ได้นำเสนอและเข้ารับการประเมินศักยภาพด้านการจัดการนวัตกรรมองค์กรว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร

.

ทั้งนี้กรอบโมเดลในการประเมินนั้น NIA ได้ใช้โมเดลการประเมินที่เรียกว่า Innovative Organization Model หรือ IOM เป็นพื้นฐานในการพิจารณา โดย IOM นี้เป็นโมเดลที่ศึกษาและจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการนวัตกรรมสำหรับองค์กรไทย ประกอบไปด้วย 8 องค์ประกอบเพื่อการจัดการนวัตกรรมใน 3 ระดับ ได้แก่

.

หนึ่ง การจัดการนวัตกรรมระดับกลยุทธ์ ประกอบด้วย (1) ยุทธศาสตร์นวัตกรรม (Innovation Strategy) ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้บริหารระดับสูงในการกำหนดทิศทางของนวัตกรรมธุรกิจ และ (2) การมุ่งเน้นธุรกิจ (Business Focus) ที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงลูกค้า กลุ่มเป้าหมายขององค์กรสู่กลยุทธ์นวัตกรรมและการมีส่วนร่วมในนวัตกรรม อย่างที่กล่าวถึงในกรณีของแมคโดนัลด์นั่นเอง

.

สอง การจัดการนวัตกรรมระดับกระบวนการ ประกอบด้วย (3) กระบวนการนวัตกรรม (Innovation Process) ที่ออกแบบและเชื่อมโยงภายในองค์กรเพื่อการพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ และ (4) ผลลัพธ์นวัตกรรม (Innovation Result) ที่ต้องมีความชัดเจนในคุณค่าที่เป็นเป้าหมาย อันรวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นด้วย

.

สุดท้ายคือ การจัดการนวัตกรรมระดับสนับสนุน ที่จะเป็นเสมือน “ทุน” ที่ช่วยให้การขับเคลื่อนสร้างสรรค์นวัตกรรมขององค์กรนั้นมีความยั่งยืน ประกอบด้วย (5) บุคลากร (People) คือการจัดการด้านทรัพยากรบุคคลและโครงสร้างองค์กร (6) องค์ความรู้ (Knowledge) ที่องค์กรส่วนใหญ่เห็นความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดการความรู้หรือ KM (7) วัฒนธรรม (Culture) ที่จำเป็นต้องมีการผลักดันในค่านิยมบุคลากรที่เหมาะสมต่อการขับเคลื่อนด้านนวัตกรรม และ (8) ทรัพยากร (Resource) ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงการจัดสรรทรัพยากรทั้งงบประมาณ บุคลากร และอื่นที่ให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

.

จากโมเดลดังกล่าวคงเห็นชัดเจนได้ว่า การเป็นองค์กรนวัตกรรมนั้น มิใช่เรื่องของการมุ่งพัฒนาด้านกระบวนการศึกษา วิจัย คิดค้นให้ได้นวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงการจัดการในหลายๆ ส่วน ที่ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมภายในเพื่อนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่งผู้บริหารจำเป็นต้องตระหนักและมีความเข้าใจ

.

สำหรับองค์กรที่มีการพัฒนาด้านการจัดการนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่องนั้น สามารถใช้ IOM ในการประเมินตนเองเบื้องต้น รวมทั้งขอเสนอเข้าร่วมรับการประเมินเพื่อพิจารณารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ สาขาองค์กรนวัตกรรมดีเด่นได้ โดยยังคงเปิดรับสมัครถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 และจะมีการประกาศผลในวันนวัตกรรมแห่งชาติหรือวันที่ 5 ตุลาคม 2566

.

ท่ามกลางความท้าทายอย่างมากมายในปัจจุบัน สิ่งที่นักบริหารต้องตระหนักอยู่เสมอคือ ไม่มีองค์กรใด สามารถขายสินค้าเดิมๆ ได้ตลอดไป และวงจรชีวิตของสินค้าต่างๆ สั้นลงอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นไม่มีความยั่งยืนในความสำเร็จได้ ถ้าไม่มีการสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง

.

บทความโดย ดร.สุรเดช จองวรรณศิริ สถาบันวิทยาการจัดการ TRIS Academy of Management

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000042131