แมลงหวี่ที่ได้รับอาหารพลังงานสูงในปริมาณมาก กลับมีอายุยืนยาวกว่าเพื่อน หากพวกมันถูกทำให้รู้สึกหิวเป็นครั้งคราวระหว่างการทดลอง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการอดอาหารในช่วงเวลาที่จำกัดเป็นระยะ (Intermittent Fasting – IF) ต่อการชะลอวัย

.

ผลวิจัยล่าสุดของทีมนักสรีรวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐฯ ซึ่งลงตีพิมพ์ในวารสาร Science ระบุว่า การทดลองของพวกเขาได้แสดงให้เห็นว่า การกระตุ้นให้เกิดกระบวนการหยุดยั้งความชรานั้น เพียงแค่ทำให้ร่างกายรู้สึกว่าได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ก็สามารถจะชะลอวัยและช่วยยืดอายุขัยได้แล้ว โดยที่ไม่ต้องอดอาหารจริงจังจนเกิดภาวะทุพโภชนาการแต่อย่างใด

.

แม้การอดอาหารแบบ IF จะได้รับความนิยมอย่างสูงทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมน้ำหนักและดูแลสุขภาพ แต่ผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของ IF ส่วนใหญ่เป็นการทดลองในสัตว์มากกว่าในคน ทั้งให้ผลการทดลองที่ไม่แน่นอนและขัดแย้งกันหลายครั้ง โดยผลการศึกษาในบางกรณีชี้ว่า IF ไม่ได้มีประโยชน์มากมายดังที่กล่าวอ้างและอาจมีโทษด้วย

.

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนต้องการจะศึกษากลไกระดับโมเลกุลของการอดอาหารแบบ IF ให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงได้เลือกทำการทดลองกับแมลงหวี่ (Drosophila melanogaster) ซึ่งมีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคต่าง ๆ เหมือนกับมนุษย์ถึง 75% รวมทั้งมีโครงสร้างของสมองและระบบเผาผลาญเหมือนกับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกด้วย จึงเหมาะที่จะเป็นต้นแบบสำหรับการวิจัยทางการแพทย์อย่างยิ่ง

.

ทีมผู้วิจัยได้ทดลองให้แมลงหวี่กลุ่มหนึ่งกินอาหารที่มีปริมาณกรดอะมิโนชนิด BCAA ต่ำ เนื่องจากกรดอะมิโนชนิดนี้เป็นสารกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอิ่มหลังกินอาหาร ดังนั้น แมลงหวี่กลุ่มดังกล่าวจะยังคงรู้สึกหิว แม้ได้กินอาหารเข้าไปในปริมาณมากแล้ว

.

ระดับของความรู้สึกหิวในแมลงหวี่ที่ได้รับกรดอะมิโนชนิด BCAA ไม่เพียงพอ สามารถวัดได้จากปริมาณและชนิดของอาหารที่พวกมันเลือกกินในมื้อต่อไป ซึ่งผลปรากฏว่าแมลงหวี่ที่ถูกทำให้รู้สึกหิวหลอก ๆ เลือกกินอาหารประเภทโปรตีนในปริมาณมาก โดยแทบจะไม่แตะต้องอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต หรืออาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาลเลย

.

แสดงว่าความหิวกระหายที่เกิดขึ้นเป็นความต้องการเติมสารอาหารให้ร่างกายอย่างแท้จริง ไม่ใช่ความหิวที่มาจากอารมณ์ความต้องการทางจิตใจแต่อย่างใด

.

นอกจากนี้ ยังมีการทดลองกระตุ้นเส้นประสาทของแมลงหวี่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกหิวขึ้นโดยตรงอีกด้วย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าแมลงหวี่สองกลุ่มข้างต้น ทั้งกลุ่มที่ได้รับกรดอะมิโนกระตุ้นความรู้สึกอิ่มไม่เพียงพอ และกลุ่มที่ถูกกระตุ้นประสาทก่อความรู้สึกหิว ล้วนมีอายุยืนยาวกว่าเพื่อนของมันที่ไม่ได้เข้ารับการทดลองทั้งหมด

.

ทีมผู้วิจัยยังพบว่า แมลงหวี่ที่ได้รับกรดอะมิโน BCAA ต่ำ จะมีการผลิตโปรตีนที่ผ่านการดัดแปลงโครงสร้างชื่อว่า “ฮิสโตน” (Histone) ที่เส้นประสาทกระตุ้นความหิว ซึ่งโปรตีนตัวนี้จะจับกับสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอและช่วยควบคุมการทำงานของยีนให้ดีขึ้น โดยผลการศึกษาในอดีตชี้ว่า ปริมาณฮิสโตนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยยืดอายุขัยให้ยืนยาวขึ้นได้

.

ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปว่า “การอดอาหารเป็นระยะในช่วงเวลาจำกัด รวมทั้งการเลือกรับประทานอาหารที่มีกรดอะมิโน BCAA ต่ำ น่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพของมนุษย์เหมือนกับในกรณีของแมลงหวี่ เนื่องจากทำให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารเพียงพอ แต่จะไม่ยับยั้งสัญญาณประสาทกระตุ้นความหิวที่ไปสู่สมองให้ลดลง

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/czqn67j59dzo