เชื่อว่าปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่พรรคการเมืองบรรจุเป็นนโยบายพรรค เพื่อใช้ในการหาเสียงกับประชาชน ว่าจะดำเนินการภายหลังถูกเลือกให้เป็นรัฐบาล

.

ทั้งนี้ หากพิจารณาโดยใช้ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศของประเทศไทยในปัจจุบันที่กำหนดให้ระดับ ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง) จะพบว่า ระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ที่มีความเข้มข้นสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศในบางช่วงเวลา (ไม่ต่อเนื่องตลอดทั้งปี) โดยมีการกระจายตัวของปัญหาครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

.

จากการวิจัยเชิงบูรณาการด้านเทคโนโลยีและสังคมเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 กรณีศึกษากรุงเทพมหานคร โดยการสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ผ่าน กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มี รองศาสตราจารย์ ศิริมา ปัญญาเมธีกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ พบว่า การนำเทคโนโลยีในการบำบัดฝุ่นละอองซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการบำบัดสารมลพิษทางอากาศที่ระบายจากแหล่งกำเนิด (emission source control technology) มาประยุกต์ใช้ในการบำบัดสารมลพิษทางอากาศในสิ่งแวดล้อม (ambient air pollutants) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ความเหมาะสมของเทคโนโลยี และประสิทธิผลในการบำบัด ผู้วิจัยจึงได้จัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย “การวิเคราะห์ความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการบำบัดฝุ่น PM 2.5 ในบรรยากาศ”

.

ยกตัวอย่างการวิเคราะห์ โดยอ้างอิงข้อมูลความเข้มข้นฝุ่นและ Service area ของเขตพญาไท จากการศึกษาข้อมูลของเขตพญาไทในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่าข้อมูลค่าความเข้มข้นฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุดในเดือนมกราคม 2564 มีค่า 80 ไมโครกรัมต่อ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทยที่ กำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเมื่อพิจารณาค่า ประเภทอัตราการดูดอากาศ จำนวนเครื่อง และ ค่าใช้จ่าย สำหรับการบำบัดอากาศให้กลับมาอยู่ที่ค่ามาตรฐานนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. เครื่องที่มีอัตราการดูดอากาศ 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพในการบำบัดสูงสุดของประเทศไทย มี ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเท่ากับ 2,000,000 บาทต่อเครื่อง ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศประเภทนี้ จะต้องมีการติดตั้งทั้งหมด 162 เครื่องในพื้นที่เขตพญาไท เพื่อลดค่าฝุ่น PM2.5 ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน 24 ชั่วโมงดังที่กล่าวไปข้างต้น จะต้องใช้งบประมาณราว 320 ล้านบาท ไม่รวมค่าบำรุงรักษาระบบในระยะยาว

.

2. เครื่องฟอกอากาศที่มีอัตราการดูดอากาศ 1,440,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงของประเทศอินเดีย จะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนประมาณ 7,000,000 บาทต่อเครื่อง มาปรับใช้ในประเทศไทย จะต้องใช้ งบประมาณราว 94 ล้านบาทเพื่อลดความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 ให้เป็นไปตามค่ามาตรฐานรายชั่วโมงสำหรับ เขตพญาไทในช่วงเดือนที่มีปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน (เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึง กุมภาพันธ์ 2564) โดยเครื่องทั้ง 2 ประเภทที่ยกตัวอย่าง ใช้หลักการการปล่อยประจุไฟฟ้าลบควบคู่กับการปล่อยละอองน้ำเพื่อดักจับฝุ่นและระบบ Jet venturi scrubber สำหรับเครื่องของไทย ในขณะที่เครื่องบำบัดอากาศที่มีอัตราการดูดอากาศมากที่สุดของประเทศอินเดีย ใช้เทคโนโลยีการบำบัดฝุ่นแบบ Bag filter

.

ทั้งนี้หากใช้ข้อมูลเดียวกันของความเข้มข้นฝุ่นของเขตพญาไทในเดือนมกราคม 2564 แต่ปรับพื้นที่ Service area เป็นพื้นที่สวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร เช่นพื้นที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งมีขนาด 196 ไร่ หรือประมาณเป็นพื้นที่ 560 x 560 เมตร จะใช้เครื่องบำบัดอากาศที่มีอัตราการดูดอากาศ 120,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จำนวนอย่างน้อย 20 เครื่อง หรือติดตั้งเครื่องบำบัดอากาศที่มีความสามารถใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย จำนวนอย่างน้อย 1 เครื่อง เพื่อบำบัดฝุ่นแขวนลอยในอากาศให้ลดลงเหลือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในเวลา 24 ชั่วโมง เมื่อคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนในสวนสาธารณะดังกล่าว จะต้องใช้งบประมาณราว 40 ล้านบาท สำหรับกรณีใช้เครื่องฟอกอากาศของประเทศไทย และ 7 ล้านบาท กรณีใช้เครื่องฟอกอากาศของประเทศไทยอินเดีย

.

นอกจากข้อพิจารณาในการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศนอกอาคารแล้ว งานวิจัยเดียวกันนี้ ได้มีการศึกษาการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในอาคารควบคู่กันไปด้วย ซึ่งอาจพิจารณาใช้เครื่องฟอกอากาศที่ใช้ระบบตัวกรองไฟเบอร์ (Fibrous filter media) ที่มีลักษณะการทำงานแบบดูดอากาศที่มีลักษณะอนุภาพเป็นแบบแห้ง ผ่านกระดาษกรองเส้นใยเพื่อกรองอนุภาคฝุ่น โดยอาศัยแรงกลเพียงอย่างเดียว สำหรับเทคโนโลยีการกรองประเภทนี้มีข้อดีคือ สามารถกรองฝุ่นในอนุภาคต่างๆได้ดี มิใช่ เฉพาะ PM 2.5 หากแต่ขึ้นอยู่กับการออกแบบจำนวนชั้นของการกรอง และชนิดของแผ่นกรอง แต่เทคนิคการกรองดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพไม่สูงเท่ากับระบบดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic precipitation; ESP) และระบบ ฟอกอากาศแบบปล่อยประจุ (Ionizers) ที่ใช้การปล่อยประจุไฟฟ้าเข้ามาช่วยดักจับฝุ่น ส่วนการเลือกใช่เทคโนโลยีแต่ละประเภทนั้นขึ้นอยู่กับงบประมาณ

.

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข้อดี ข้อเสีย (pros/cons) และข้อจำกัดในการประยุกต์ใช้ ความเป็นไปได้ และความเหมาะสมในการใช้งานเพื่อตอบโจทย์สภาพปัญหาที่มีความจำเพาะเจาะจงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวมถึงประสิทธิผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ (decision making) ของหน่วยงานภาครัฐในการพิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดแนวทางในการสนับสนุนและส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการบำบัดฝุ่น PM2.5 สู่การยกระดับการแก้ไขปัญหาสาธารณะอย่างถูกต้อง และก่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงานในการลดและควบคุมระดับความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 เพื่อลดผลกระทบอันเกิดต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนต่อไป

.

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000049933