แนวปะการังของโลกนั้นกำลังตกอยู่ในอันตราย โดยอุณหภูมิของน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกมันตายลงเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ และแนวโน้มดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลและทำให้คนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจลงมือทำการบางอย่างเพื่อแก้ปัญหานี้
.
โจนี เคลย์พัส นักวิทยาศาสตร์ด้านปะการังและผู้อำนวยการศูนย์ Raising Coral Costa Rica
โจนี เคลย์พัส นักวิทยาศาสตร์ด้านปะการังและผู้อำนวยการศูนย์ Raising Coral Costa Rica กล่าวว่า เธอทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์แนวปะการังมาเป็นเวลานานแล้ว และเธอก็รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการที่ต้องคอยบอกใครต่อใครว่า สภาพของแนวปะการังนั้นกำลังจะแย่ลงแค่ไหน จนวันหนึ่ง เธอตัดสินใจหาทางฟื้นฟูแนวปะการังที่นำมาซึ่งโครงการนำปะการังชิ้นเล็ก ๆ จากท้องทะเลมาปลูกในเรือนเพาะชำใต้น้ำ เพื่อที่จะนำกลับไปปลูกทดแทนในแนวปะการังต่อไป
.
นักประดาน้ำทำการเก็บรวบรวมเศษปะการังเพื่อนำขึ้นมาเพาะชำ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของโครงการยังใช้เทคโนโลยีง่าย ๆ ในการติดตามว่าชิ้นส่วนของปะการังแต่ละชิ้นมาจากที่ไหน เพื่อหาปะการังที่มีความสามารถฟื้นคืนสภาพได้ดีที่สุดมาทำการปลูกต่อไป
.
เคลย์พัสกล่าวต่อว่า นอกจากจะปลูกปะการังในเรือนเพาะชำแล้ว ทางโครงการยังแจกจ่ายปะการัง ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องตรวจวัดระดับอุณหภูมิ ไปยังสถานที่อื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้แน่ใจว่า สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่จะนำปะการังไปปลูกในอนาคตให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
.
มีการประเมินจากบางหน่วยงานว่า โลกของเราได้สูญเสียปะการังไปแล้ว 50% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะโลกร้อน ดังนั้น โครงการฟื้นฟูแนวปะการังเช่นนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากปะการังตายลง ก็จะก่อให้เกิดหายนะอันใหญ่หลวงต่อสิ่งมีชีวิตทั้งในและนอกมหาสมุทร
.
นักประดาน้ำนำปะการังที่เพาะสำเร็จลงไปปลูกที่ใต้ทะเล
สิ่งที่หลายคนไม่ทราบก็คือ แนวปะการังนั้นทำหน้าที่ปกป้องแนวชายฝั่ง รักษาความหลากหลายทางชีวภาพในท้องน้ำและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล
.
แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์อย่างเคลย์พัสแล้ว การฟื้นฟูแนวปะการังยังเป็นเรื่องของการรักษาสิ่งที่อยู่ในมหาสมุทรมาหลายล้านปีให้อยู่ในที่เดิมอีกด้วย
.
บริษัทอาร์คีรีฟ (Archireef) ซึ่งดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีภูมิอากาศ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่หันมาช่วยฟื้นฟูแนวปะการังด้วยการพัฒนา "กระเบื้องแนวปะการัง" ที่ทำจากดินเผาพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งสามารถฝังลงในพื้นมหาสมุทรเพื่อช่วยให้ปะการังใหม่ได้เจริญเติบโต
.
"กระเบื้องแนวปะการัง" เพื่อใช้ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเล
เดนิซ เทเคอเรค์ ผู้ร่วมก่อตั้งอาร์คีรีฟ อธิบายว่า นักประดาน้ำจะนำกระเบื้องแนวปะการังดินเผาสามมิติไปฝังไว้ที่ก้นมหาสมุทร เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการวางเศษปะการังไว้ด้านบนเพื่อปลูก โดยนักประดาน้ำสามารถนำกระเบื้องแนวปะการังลงไปฝังไว้ได้พื้นที่สูงสุดประมาณ 40 ตารางเมตรในหนึ่งวัน
.
ข้อดีอย่างหนึ่งของการใช้กระเบื้องมวลเบาก็คือ การที่นักประดาน้ำสามารถเคลื่อนย้ายวัสดุนี้ไปยังน้ำที่ลึกและเย็นกว่าได้ตามต้องการ
.
ทั้งนี้ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพการณ์ได้นั้นช่วยให้ทั้งสองโครงการประสบความสำเร็จ ในขณะที่ อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
.
ความสำคัญของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในท้องทะเลอาจสะท้อนได้ดีจากคำพูดของ ซิลเวีย เอิร์ล นักสมุทรศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกันที่เคยกล่าวไว้ว่า "ปะการังต้องการปลา และปลาก็ต้องการปะการัง หากเราเอาปลาไป ปะการังตาย หากเอาปะการังไป ปลาก็ตาย” เช่นกัน
ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/restoring-coral-reefs-to-help-save-the-planet-/7238952.html