ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจาก สถาบันธรณีและบรรพชีวินวิทยาแห่งหนานจิง (Nanjing Institute of Geology and Paleontology) ร่วมกับ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเลบานอน (Lebanese University) พบฟอสซิลยุงที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ 130 ล้านปี และเป็นฟอสซิลยุงที่เก่าแก่ที่สุดในโลก การศึกษาได้บ่งชี้ว่ายุงโบราณเพศผู้น่าจะกินเลือดกินเป็นอาหาร
.
ฟอสซิลที่ถูกค้นพบในครั้งนี้ เป็นฟอสซิลยุงในอำพัน หรือ ยางไม้ (Amber) ที่ ประเทศเลบานอน อายุประมาณ 130 ล้านปี ประมาณยุคครีเทเชียสตอนต้น โดยการศึกษาลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ของยุงที่อยู่ในอำพัน ได้ค้นพบอวัยวะดูดเลือดในยุงเพศผู้ที่อยู่ในยางไม้ ซึ่งเป็นการค้นพบสิ่งที่ไม่เคยพบในยุงเพศผู้มาก่อน เนื่องจากในปัจจุบัน มีแต่ยุงเพศเมียเท่านั้นที่กินเลือดเพื่อสร้างไข่ในการขยายพันธุ์ ซึ่งถือเป็นการค้นพบทางบรรพชีวินวิทยาครั้งสำคัญของโลก
.
นักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมกันศึกษาได้คาดการณ์ว่า ยุงเกิดขึ้นมาในช่วงระหว่าง 200 - 145 ล้านปีก่อน เริ่มจากเป็นแมลงทั่วไปที่ไม่กินเลือดแต่กินน้ำหวานจากพืช ก่อนที่จะเริ่มวิวัฒนาการเพื่อดูดเลือดสัตว์ในภายหลัง และยุงในยางไม้นี้ทำให้รู้ว่า ทั้งยุงโบราณเพศผู้และเพศเมียนั้นดูดเลือด แต่ต่อมาได้มีปัจจัยบางอย่างทำให้เกิดการวิวัฒนาการ เปลี่ยนยุงเพศผู้ไปกินน้ำหวานและยุงเพศเมียยังคงกินเลือด การค้นพบข้อมูลการวิวัฒนาการของแมลงครั้งใหม่นี้ ได้เผยแพร่ออนไลน์ใน วารสาร Current Biology เป็นหลักฐานชิ้นใหม่สำหรับการศึกษาวิวัฒนาการของยุง และแมลงชนิดอื่นๆ
.
การศึกษาในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า วิวัฒนาการของสัตว์กินเลือดมีความซับซ้อนมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
.
ดานี อาซาร์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และ มหาวิทยาลัยเลบานอน กล่าวว่า
.
“การศึกษาในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า วิวัฒนาการของสัตว์กินเลือดมีความซับซ้อนมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ อำพันที่คนพบในเลบานอนเป็นอำพันเก่าแก่ที่สุดซึ่งมีการปะปนทางชีวภาพอย่างเข้มข้น และเป็นวัสดุที่สำคัญมาก เนื่องจากการก่อตัวของมันเกิดขึ้นในสมัยเดียวกับจุดเริ่มต้นของการแผ่รังสีของพืชดอก ซึ่งตามมาด้วยวิวัฒนาการร่วมระหว่างแมลงผสมเกสรกับพืชดอก”
.
แม้ว่ายุงจะเป็นพาหะโรคร้ายต่างๆ และคร่าชีวิตมนุษย์ทั่วโลกหลายแสนคนต่อปี แต่ ยุงก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ช่วยทำให้แหล่งน้ำมีความสะอาดมากขึ้น จากอุปนิสัยที่ใช้ปากกวัดแกว่งผิวน้ำเพื่อกินจุลินทรีย์ การศึกษาวิวัฒนาการและสิ่งแวดล้อมของยุงจึงเป็นหนึ่งในการศึกษาที่สำคัญ
.
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/science/detail/9660000111144