แฟ้มภาพ: โลโก้กูเกิลและปัญญาประดิษฐ์ ถ่ายเมื่อ 4 พ.ค. 2023 (รอยเตอร์)

กูเกิล (Google) เปิดตัวโมเดลปัญญาประดิษฐ์แบบโอเพ่นซอร์ส (open source) ที่ผู้พัฒนาภายนอกสามารถออกแบบโมเดลปัญญาประดิษฐ์ได้เอง ตามหลังเมตา แพลตฟอร์มส (Meta Platforms) ที่เพิ่งเปิดตัวโมเดลคล้าย ๆ กันนี้ไป ตามรายงานของรอยเตอร์

.

บริษัทอัลฟาเบท (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล เปิดตัวแท็บเสริม ที่ให้บุคคลและภาคธุรกิจสามารถสร้างซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่มีฐานจากโมเดลเอไอแบบโอเพ่นซอร์สในชื่อ เจมมา (Gemma) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยทางบริษัทจะเผยแพร่ข้อมูลโมเดลเอไอนี้ให้เข้าถึงได้โดยทั่วไปอีกด้วย

.

การเคลื่อนไหวล่าสุดของกูเกิล อาจดึงดูดให้วิศวกรซอฟต์แวร์เข้าไปสร้างซอฟต์แวร์ด้านเทคโนโลยีของกูเกิลและกระตุ้นให้มีการใช้งานระบบคลาวด์อันเป็นแหล่งทำกำไรของบริษัทอีกทอดหนึ่ง เนื่องจากโมเดลปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวสามารถใช้งานร่วมกับกูเกิล คลาวด์ และลูกค้าที่ใช้บริการครั้งแรกจะได้รับเครดิต 300 ดอลลาร์ในการใช้ระบบคลาวด์ของบริษัทอีกด้วย

.

อย่างไรก็ตาม กูเกิลไม่ได้เพิ่มเติมรายละเอียดในการเปิดให้เจมมาเป็นโมเดลปัญญาประดิษฐ์แบบโอเพ่นซอร์สอย่างสมบูรณ์แบบ นั่นหมายความว่า บริษัทจะยังมีสิทธิ์ความเป็นเจ้าของและควบคุมการใช้งานของระบบอยู่ ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายเห็นว่า โมเดลปัญญาประดิษฐ์แบบโอเพ่นซอร์สมีโอกาสที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ระหว่างที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นวิธีที่เปิดให้ผู้คนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเอไอได้ในวงกว้าง

.

เจมมาของกูเกิล มีขนาดโมเดลเอไอ 2,000-7,000 ล้านพารามิเตอร์ ซึ่งน้อยกว่าโมเดลเจมิไน โอเพ่น (Gemini open) ของกูเกิล ขณะที่ โมเดลเอไอ ลามา 2 (Llama 2) ของเมตาที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ มีขนาด 7,000-70,000 ล้านพารามิเตอร์ และจีพีที-3 (GPT-3) ของโอเพ่นเอไอ (OpenAI) ที่เปิดตัวเมื่อปี 2020 นั้นมีขนาด 175,000 ล้านพารามิเตอร์

.

อีกด้านหนึ่ง บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ เอ็นวิเดีย (Nvidia) ได้ประกาศเมื่อวันพุธเช่นกันว่าได้ทำงานร่วมกันกูเกิล เพื่อให้แน่ใจว่าโมเดลเจมมาจะทำงานอย่างราบรื่นไม่มีสะดุดกับชิปของบริษัท รวมทั้งเตรียมเปิดตัวซอฟต์แวร์แชทบอทของตน ที่สามารถทำงานกับโมเดลเอไอบนวินโดวส์พีซี และกับเจมมาได้

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/google-releases-open-ai-models-after-meta/7496661.html