กมธ.อากาศสะอาดสานพลัง สสส.หนุน แก้ฝุ่น PM 2.5 ปกป้องสุขภาพคนไทยปลอดภัยจากมลพิษ มั่นใจกฎหมายเสร็จบังคับใช้ภายในปีนี้ หวังให้คนไทยมีอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2568 ให้คนไทย

.

งานเสวนา “พ.ร.บ.อากาศสะอาด วาระประเทศไทย..วาระโลก : แก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 ลดโลกเดือด” เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ อาคารรัฐสภา จัดโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เข้าร่วมงานและชมบูธนิทรรศการของภาคีเครือข่ายด้านการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม

.

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด กล่าวว่า อากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา รัฐบาลกำหนดให้การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวาระชาติ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เศรษฐกิจและสังคมโดยรวมโดยตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน หรือคณะกรรม PM 2.5 แห่งชาติเป็นกลไกเร่งรัดการจัดทำแผนและการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM 2.5 ทั้งระบบ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ถอดบทเรียนเพื่อหาทางป้องกันในฤดูฝุ่นที่จะมาถึงระหว่างที่กำลังรอ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งคณะกรรมาธิการกำลังเริ่งพิจารณา

.

“พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ บริหารรจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดซึ่งครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคการเผาในที่โล่ง ภาคป่าไม้ และหมอกควันข้ามแดน โดยมีการกำหนดมาตรการเร่งด่วน เครื่องมือหรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบทุกภาคส่วน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด อยู่ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งกลับสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมที่จะถึงนี้ ให้ทันบังคับใช้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้เพื่อคืนอากาศสะอาดบริสุทธิ์เป็นของขวัญปีใหม่แก่คนไทย”

.

ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่าจากข้อมูลล่าสุดของระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุขเก็บข้อมูลจากเขตสุขภาพทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ พบว่า เฉพาะปี 2567 มีผู้ป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ รวมกว่า 4,400,000 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ 8 จังหวัดภาคตะวันตก และ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือโซนใต้ มีผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว มากกว่า 400,000 คน สะท้อนความรุนแรงของฝุ่นพิษ PM2.5 สสส.ตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพในทุกกลุ่มประชากร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานกลางแจ้ง ผู้มีความเสี่ยงและป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ และโรคไม่ติดต่อ (NCDs) จึงยกระดับการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ เรื่องการลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม เป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์หลัก 10 ปี (2565-2574)

.

“สสส.มุ่งขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ด้วยการเสนอนโยบายสร้างสรรค์งานวิชาการ เสริมหนุนประชาสังคม และสื่อสารสังคม มีผลงานที่สำคัญ อาทิ การจัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.), เสริมหนุนเครือข่ายสภาลมหายใจ 15 จังหวัดสานพลังภาครัฐ ท้องถิ่นเอกชน ประชาสังคม ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน, สร้างโมเดลต้นแบบ Low Emission Zone ใน 5 เขตของกรุงเทพฯ, จัดทำห้องเรียนสู้ฝุ่นที่ก้าวกระโดดไปมากกว่า 600 โรงเรียน, จัดทำต้นแบบห้องปลอดฝุ่น 1,000 ห้องทั่วประเทศ, จัดเวทีวิชาการระดับชาติ เรื่องมลพิษทางอากาศ PM2.5 เพื่อระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ สรุปข้อเสนอและนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ 1 ใน 7 ร่างที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการนับเป็นข่าวดีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบร่างกฎหมายทั้ง 7 ฉบับ ที่มีสาระสำคัญในการกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในทุกมิติ”

.

นายวีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด วุฒิสภา กล่าวว่าเมื่อ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งถือเป็นกฎหมายแม่มีผลบังคับใช้ จะนำไปสู่การออกกฎหมายลูก ระเบียบ มาตรการต่างๆ ซึ่งจะเป็น 1 ในเครื่องมือสำคัญป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยปัจจุบันพื้นที่ที่มีการเผาใหญ่ที่สุด อยู่ในเขตป่า 64% โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ รองลงมาคือพื้นที่การเกษตร 26.8% โดยเฉพาะนาข้าว ที่มีการเผาฟางช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวทั้งที่สามารถใช้ปรุงดิน เลี้ยงสัตว์ แปลงเป็นชีวมวลได้จึงต้องส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าฟางข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่การแปรรูป การขนส่ง และการตลาด ซึ่งจะช่วยลดการเผาได้

.

ดร.บัณฑร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน และผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าการแก้ปัญหาฝุ่นควันมีความซับซ้อนเกินกำลัง กรมควบคุมพิษ (คพ.) หน่วยงานเดียว ต้องอาศัยหลายหน่วยงาน หลายเครื่องมือ ไม่สามารถจัดการได้เฉพาะในช่วงฤดูฝน 3 เดือนแต่ต้องดำเนินการต่อเนื่องทั้งปี ด้วยสูตร 8-3-1 คือ 8 เดือนช่วงดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขออกแบบกลไก วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง ลดการเผา 3 เดือนช่วงเผชิญเหตุ การเฝ้าระวังจุดความร้อน การบังคับใช้กฎหมาย และ 1 เดือนช่วงฟื้นฟูเยียวยา พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เชื่อว่า พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด จะช่วยอุดช่องว่างการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะเรื่องกลไกการทำงาน ระบบงบประมาณ ลดปัญหาความล่าช้า โดยหวังว่าวันที่ 7 ก.ย. “วันอากาศสะอาดสากล” พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้แล้ว

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000049176