ผู้คนเดินข้ามถนนท่ามกลางสภาพอากาศร้อนในนครลอสแอนเจลิส วันที่ 4 กันยายน 2024 (ที่มา: AFP)
โครงการสังเกตการณ์โลกและสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพยุโรป หรือ Copernicus Climate Change Service เปิดเผยในวันศุกร์ว่า โลกเพิ่งผ่านช่วงฤดูร้อนที่อุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา ซึ่งมีสาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์และปรากฏการณ์เอลนีโญ
.
ข้อมูลของโคเปอร์นิคัสระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของซีกโลกเหนือระหว่างเดือนมิถุนายนและสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน อยู่ที่ 16.8 องศาเซลเซียส สูงกว่าปีที่แล้วที่ทำลายสถิติของปีก่อนเช่นกัน 0.03 องศาเซลเซียส
.
ข้อมูลของโครงการสังเกตโลกแห่งนี้เริ่มบันทึกในปี 1940 แต่บันทึกของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ที่เริ่มทำตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 บ่งชี้ไปอีกทาง ว่าทศวรรษที่แล้วถือเป็นช่วงเวลาที่โลกร้อนที่สุดในรอบ 120,000 ปี
.
คาร์โล บวนเทมโป ผู้อำนวยการโครงการโคเปอร์นิคัส ระบุว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดในเดือนมิถุนายน เป็นปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของฤดูร้อนปีนี้นั่งแท่นปีที่ระอุที่สุด
.
สเตฟาน ราห์มสตอร์ฟ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากสถาบัน Potsdam Institute for Climate Impact Research กล่าวว่า ค่าความร้อนที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า “วิกฤตสภาพอากาศกำลังค่อย ๆ กระชับวงเข้ามาหาเรามากขึ้น”
.
อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์คาดว่าปี 2024 จะไม่คว้าตำแหน่งปีที่ร้อนที่สุด เพราะปรากฏการณ์ลานีญาจะทำให้มหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางเย็นลงตามธรรมชาติ
.
วิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลายพื้นที่ของโลกในปีนี้ เช่น น้ำท่วมใหญ่ในซูดาน สภาวะแล้งจัดในเกาะซิซิลีและซาร์ดิเนียของอิตาลี รวมถึงพายุไต้ฝุ่นแคมี (Gaemi) ที่คร่าชีวิตมากกว่า 100 รายในฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และจีน
.
จอห์น โพเดสตา ผู้แทนด้านสภาพภูมิอากาศแห่งสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนจีนในสัปดาห์นี้เพื่อหารือนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศกับกับรัฐบาลกรุงปักกิ่ง และได้เข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ในวันศุกร์ โดยในการเยือนเป็นระยะเวลาสามวันนี้ โพเดสตาได้ร่วมจัดประชุมกับ หลิว เจินหมิน ผู้แทนฝ่ายจีน ในเรื่องนโยบายด้านสภาพอากาศของทั้งสองประเทศด้วย
.
รัฐมนตรีหวังกล่าวว่า การพูดคุยของหลิวและโพเดสตา “ส่งสัญญาณด้านบวกว่าจีนและสหรัฐฯ สองประเทศใหญ่ สมควร และสามารถร่วมมือกัน”
.
อากาศที่ร้อนขึ้นมีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ผนวกกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เอลนีโญ ที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้อากาศโดยรวมอุ่นขึ้น และมีผลต่อสภาพอากาศทั่วโลก
.
โครงการโคเปอร์นิคัสระบุว่า แม้ความเย็นจากปรากฏการณ์ลานีญาจะช่วยบรรเทาความร้อนได้บ้างชั่วคราว แต่คงไม่มีผลถึงขั้นไปเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ
ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/scientists-said-previous-summer-hottest-on-record/7774707.html