- รายละเอียด
- หมวด: บทคัดย่ออาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
- ฮิต: 2369
Author : จิราภรณ์ บุราคร และคนอื่นๆ.
Source : วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ 68, 211 (ก.ย. 2562) 24-25
Abstract : เนื้ออกไก่มีปริมาณโปรตีนสูงถึง 25 กรัม ต่อ 100 กรัม มีไขมัน 1 กรัม ต่อ 100 กรัม กรมวิทยาศาสตร์บริการ จึงได้ดำเนินการวิจัยเพิ่มมูลค่าเนื้ออกไก่ โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อกไก่อบกรอบพร้อมบริโภค โดยใช้กระบวนการอบลมร้อน (hot air drying) โดยอบที่อุณหภูมิ 170 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 นาที จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ เนื้อสัมผัสกรอบพอง และรสชาติเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อกไก่อบกรอบ มีปริมาณโปรตีน 80.94 กรัม ไขมัน 5.67 กรัม และมีพลังงานจากไขมัน 51.03 กิโลแคลอรี ต่อ 100 กรัม ถือเป็นอาหารทางเลือกสำหรับผู้รักสุขภาพ ตลอดจนบุคคลทุกเพศ ทุกวัย.
Subject : ไก่. อาหาร. อาหารโปรตีน.
- รายละเอียด
- หมวด: บทคัดย่ออาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
- ฮิต: 2036
Author : อภิษฐา ช่างสุพรรณ, เอกภพ นิ่มเล็ก และผกาวลี เวชชัยยา.
Source : วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ 68, 211 (ก.ย. 2562) 21-23
Abstract : สารพิษจากเชื้อรา (Mycotoxins) คือ สารพิษธรรมชาติที่สร้างจากเชื้อรา สารพิษจากเชื้อราที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ อะฟลาทอกซิน (aflatoxins) เป็นสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อรา Aspergillus flavas, A. Parasiticus, A. Tamarii และ A. Nomius สารอะฟลาทอกซินมักพบในเมล็ดธัญพืชและพืชน้ำมันชนิดต่างๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วลิสง พริก มะพร้าว เครื่องเทศและสมุนไพร สารอะฟลาทอกซินเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) ในมนุษย์ โดยเฉพาะมีผลกับเซลล์ตับและเป็นสารก่อกลายพันธุ์ (mutagen) กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยกองผลิตภัณฑ์อาหารและวัสดุสัมผัสอาหาร ได้ดำเนินการควบคุมคุณภาพนมและผลิตภัณฑ์นมเพื่อลดการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน และพัฒนาวิธีทดสอบที่เหมาะสมในการหาปริมาณการปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซินในนมและผลิตภัณฑ์นมด้วยเทคนิค High-performance liquid chromatography (HPLC) เพื่อตรวจสอบคุณภาพอาหารให้มีความปลอดภัย และให้บริการทดสอบได้อย่างถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานสากล.
Subject : อะฟลาท็อกซิน . นม. Aflatoxf
- รายละเอียด
- หมวด: บทคัดย่ออาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
- ฮิต: 2377
Author : ปฏิญญา จิยิพงศ์ และคนอื่นๆ.
Source : วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ 68, 211 (ก.ย. 2562) 16-18
Abstract : ปลีกล้วยหรือหัวปลี (Banana blossom) เป็นส่วนดอกของกล้วยที่มีกาบขนาดใหญ่ห่อหุ้มอยู่ภายนอก คุณค่าโภชนาการที่ร่ายกายจะได้รับจากหัวปลี 100 กรัม ได้แก่ เส้นใยอาหาร 0.8 กรัม แคลเซียม 28 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 40 มิลลิกรัม มีโปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินซี บีตาแคโรทีนที่มีคุณสมบัติในการบำรุงเลือด ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ แก้ร้อนใน และสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด หัวปลีมีคุณค่าทางอาหารและสรรพคุณขับน้ำนมสูง กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสำนักเทคโนโลยีชุมชน จึงนำหัวปลีมาแปรรูปเป็นน้ำหัวปลีผสมสมุนไพรบรรจุขวดแก้ว ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน สามารถเก็บรักษาได้นาน และสะดวกต่อการบริโภค โดยมีส่วนประกอบหลัก คือ น้ำหัวปลี อินทผาลัม และสมุนไพร ได้แก่ ขิง กระชาย ใบแมงลัก ใบกระเพรา โป๊ยกั๊ก และการพลู ซึ่งสูตรที่ได้รับการยอมรับเป็นสูตรที่ใช้น้ำหัวปลีร้อยละ 45 น้ำอินทผาลัมร้อยละ 30 ซึ่งให้ความหวาน 15 บริกซ์ ผสมกับน้ำสมุนไพรเพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำหัวปลีผสมสมุนไพรพร้อมเครื่องดื่มปริมาณ 200 มิลลิลิตร มีพลังงาน 40 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต ร้อยละ 3 ใยอาหาร ร้อยละ 3 โซเดียม ร้อยละ 1 และแคลเซียม ร้อยละ 2.
Subject : หัวปลี. เครื่องดื่ม. เครื่องดื่มสมุนไพร. น้ำนม.
แหล่งที่มาของภาพ : http://lib3.dss.go.th
- รายละเอียด
- หมวด: บทคัดย่ออาหารและอุตสาหกรรมเกษตร
- ฮิต: 2255
Author : ปฏิญญา จิยิพงศ์, จันทร์ฉาย ยศศักดิ์ศรี และเจนจิรา จันทร์มี
Source : วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ 68, 211 (ก.ย. 2562) 14-15
Abstract : ปลาส้ม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการหมัก โดยนำปลามาหมักด้วยเกลือ ข้าวเจ้าสุกหรือข้าวเหนียวนึ่ง และกระเทียมในปริมาณที่เหมาะสม ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 3-5 วัน จะได้ปลาส้มที่มีรสเปรี้ยว ในกระบวนการหมักอาหารมีปัจจัยที่มีผลต่อการหมัก ได้แก่ ความเข้มข้นหรือปริมาณเกลือ อุณหภูมิรวมทั้งหากไม่มีสุขลักษณะที่ดีในการผลิต จะเกิดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ ทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามาตรฐานได้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม สำนักเทคโนโลยีชุมชน ได้ทำการศึกษาเทคนิคการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาส้มเพื่อลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์โดยมีวิธีการที่สำคัญ คือ การลดการปนเปื้อนจุลินทรีย์ที่ผิวของเนื้อปลาก่อนการหมัก โดยล้างทำความสะอาดปลา พักให้สะเด็ดน้ำนำไปแช่สารละลายน้ำเกลือเข้มข้นร้อยละ 10 แล้วนำมาแช่สารละลายน้ำส้มสายชูร้อยละ 1 จากนั้นนำไปหมักกับเกลือโดยปริมาณเกลือที่เหมาะสมในกระบวนการหมักปลาส้ม คือ ใช้เกลือร้อยละ 4.5 ผสมด้วยกระเทียมร้อยละ 10 ข้าวเหนียวร้อยละ 8 น้ำตาลร้อยละ 2 คลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน นำใส่ภาชนะสะอาดหมักที่อุณหภูมิห้อง 3-5 วัน โดยผลิตภัณฑ์ปลาส้มที่ได้มีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช. 26/2557 ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ถ่ายทอดเทคนิคการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาส้มเพื่อลดการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจส้มปลาหน้ากระเทียมบ้านโนนปอแดง จังหวัดหนองบัวลำภู และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโคกป่าฝาง จังหวัดหนองคาย ส่งผลให้เกิดรายได้ สร้างชุมชนเข้าแข็ง เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน.
Subject : ปลา. อาหาร. การถนอมอาหาร. การหมักปลา. การปนเปื้อนของจุลินทรีย์. การปนเปื้อนในอาหาร.
แหล่งที่มาภาพ : http://lib3.dss.go.th