เปิดตัว "รถเข็นรักษ์โลก" สะอาดปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ไม่ทิ้งไขมัน-ไม่ปล่อยควัน 100 คันแรกรัฐออกค่าใช้ให้ 50% เงินไม่พอ ธ.ออมสินพร้อมปล่อยกู้
รถเข็นรักษ์โลกดังกล่าวได้รับการพัฒนาและออกแบบทางวิศวกรรม โดยศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จนได้รถเข็นต้นแบบสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่จะใช้ในการขายอาหารริมทาง ที่มีน้ำหนักเบา มีระบบน้ำดี ถังบำบัดและซิงค์น้ำ ระบบดูดและบำบัดควัน หัวเตาแก๊ส 2 หัว รวมถึงมีตู้เก็บความเย็น พร้อมแท่นรับพ่วงข้าง
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่าสตรีทฟู้ดหรืออาหารข้างทางของไทยติดอันดับที่ดีที่สุดในโลก โดยที่เรายังไม่ได้ใส่นวัตกรรมเข้าไป ซึ่งหากใช้นวัตกรรมด้วยจะทำให้เราไปได้ไกลยิ่งขึ้น อีกทั้งธุรกิจสตรีทฟู้ดยังใช้วัตถุภายในประเทศทั้งหมด ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ผู้ผลิตภายในประเทศ เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย
"ทว่า ธุรกิจสตรีทฟู้ดก็มีปัญหาของตัวเอง ผู้ประกอบการต้องทำงาน 7 วัน เมื่อหยุดก็เสียรายได้ เพราะอาศัยความสามารถที่ตัวบุคคล แต่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม จะเข้าไปช่วยในเรื่องนี้ได้ ทำให้เกิดความสม่ำเสมอ ให้รสชาติคงเดิม สามารถขยายสาขาและร้านค้าได้ และช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าได้พักผ่อนโดยที่ยังมีรายได้" ดร.ณรงค์กล่าว
ส่วนคุณสมบัติรถเข็นรักษ์โลกนั้น เป็นรถเข็นที่ผลิตจากสแตนเลส 304 ที่ป้องกันการเกิดสนิม มีความกว้าง 2.3 เมตร ลึก 0.8 เมตร และสูง 2.5 เมตร ในเบื้องต้นได้ผลิตต้นแบบ 100 คัน มีรุ่นให้เลือกเหมือนรถ ได้แก่ 1.รุ่นพื้นฐานเป็นรถเข็นน้ำหนักเบาพร้อมระบบน้ำดี ถังบำบัดและซิงค์น้ำ ราคา 20,000 บาท 2.มีระบบดูดควันเพิ่มเติมจากรุ่นพื้นฐาน ราคา 25,000 บาท 3.มีระบบดูดควัน หัวเตาแก๊ส 2 หัวเพิ่มเติมจากรุ่นพื้นฐาน และมีระบบตู้เก็บความเย็นพร้อมแท่นรับพ่วงข้าง ราคา 35,000 บาท โดยราคาดังกล่าวเป็นราคาที่รัฐช่วยสนับสนุนแล้ว 50% จากราคาเต็มสูงสุด 70,000 บาท
ดร.ณรงค์ระบุว่า การออกแบบรถเข็นรักษ์โลกนี้ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกลอย่างเดียว แต่อนาคตยังสามารถต่อยอดต่อไปได้อีก เช่น เติม IoT ช่วยให้ลูกค้าสั่งออนไลน์ได้ เติมแบตเตอรี หรือติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มเติม
ทางด้าน นางปรางมาศ เธียรธนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคาร สายงานลูกรายย่อยและองค์กรชุมชน กลุ่มลูกค้าฐานรากและสนับสนุนนโยบายรัฐ กล่าวเสริมว่าธนาคารออมสินจะช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมีงบประมาณสนับสนุนส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้รถเข็นรักษ์โลกนี้ในราคาครึ่งหนึ่ง และยังมีแคมเปญเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสินที่จัดขึ้นเพื่อผู้ประกอบการที่สนใจนวัตกรรมนี้ โดยจำกัดเพียง 100 รายแรก
พร้อมกันนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผู้ผลักดันให้เกิดมิชชิลินสตาร์ในไทย กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก เพราะหากเศรษฐกิจฐานรากเดินไปไม่ได้ เราทุกคนก็ไปต่อไม่ได้ และรถเข็นรักษ์โลกนี้เป็นตัวอย่างของการทำให้งานวิจัย วิทยาศาสตร์ นวัตกรรมเป็นเรื่องใกล้ตัว
ดร.สุวิทย์ให้ข้อมูลว่าสตรีทฟู้ดคือธุรกิจที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของผู้จำหน่ายอาหารในทุกระดับ ข้อมูลปี 2560 พบว่าไทยมีสตรีทฟู้ดทั่วประเทศกว่า 103,000 ร้าน คิดเป็นมูลค่าตลาดสูงกว่า 270,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวทุกปี ปัจจุบันธุรกิจสตรีทฟู้ดเติบโตอยู่ที่ 6-7% และมีแนวโน้มถึง 10% จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้า จะมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 10-20%
"ทว่ายังมีความกังวลเรื่องสุขลักษณะของสตรีทฟู้ด แต่ สวทช.ได้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการสตรีทฟู้ด ให้โอกาสเขาในลักษณะที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน และยังตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องความสะอาด เมื่อผู้บริโภคมั่นใจ การท่องเที่ยวจะมาอีกเยอะ เป็นการตอบโจทย์การสร้างรายได้ระยะยาว" ดร.สุวิทย์กล่าว
ทั้งนี้ นวัตกรรมรถเข็นรักษ์โลกเปิดตัว เมื่อวันที่ 14 ก.พ.63 ณ โรงแรมเดอะ สุ โกศล โดยมี เชฟ ชุมพล แจ้งไพร เชฟมิชชิลินสองดาวคนแรกของประเทศไทย และนายพงษ์พนัส มังคละคีรี เจ้าของร้านกะเพราซาวห้า และน้ำมันกะเพราสูตรพิเศษ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์อาหารสตรีทฟู้ด และสาธิตผัดกะเพราด้วยรถเข็นรักษ์โลก
ที่มา : Manager online 15 กุมภาพันธ์ 2563 [https://mgronline.com/science/detail/9630000015363]