สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผย 4 นวัตกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกที่จำเป็นต้องนำมาใช้และจะทวีบทบาทในโลกอนาคต “นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง - พลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติหรือไบโอพลาสติก - นวัตกรรมเพื่อการจัดการไมโครพลาสติก - การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นพลังงาน”
ล่าสุดร่วมกับ “Phoenixict Co., Ltd. - Sinwattana Crowdfunding“ จัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการออกแบบโครงการด้านการบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อดึงดูดผู้ที่มีแนวคิดและไอเดียการออกแบบนวัตกรรมที่มุ่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้มีโอกาสนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้เพื่อรับสนับสนุนเงินทุน และนำโครงการไปต่อยอดเพื่อสังคมได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังเฟ้นหานวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติก 5 ด้าน “นวัตกรรมการจัดเก็บขยะพลาสติก - นวัตกรรมการคัดแยกขยะพลาสติก - นวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติก - นวัตกรรมการกำจัดขยะพลาสติก - การสร้างความมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะพลาสติก” เพื่อเดินหน้าโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน City & Community Innovation Challenges ในปี 2563
นายคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องให้ความใส่ใจ เป็นที่ทราบกันดีว่าขยะประเภทดังกล่าวเป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ยาก สร้างปัญหาให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน โดยในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าหลายฝ่ายหลายประเทศทั่วโลกมีความพยายามผลักดันการลดและเลิกใช้วัสดุที่ผลิตมาจากพลาสติก โดยเฉพาะสินค้าประเภทถุงบรรจุ ซึ่งมีการใช้ในปริมาณมากเนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับวิถีการดำเนินชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีขยะพลาสติกประเภทอื่นๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี รวมทั้งมีนวัตกรรมที่สามารถทดแทนการใช้งานได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น ขวดน้ำ แก้วน้ำ หรือกล่องบรรจุภัณฑ์ ทั้งยังจำเป็นต้องกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ ประชาชน รวมถึงนักพัฒนาเกิดความตื่นตัวและสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาการจัดการขยะพลาสติก ตลอดจนโซลูชั่นที่สามารถทำให้เรื่องดังกล่าวมีทางออกที่เป็นรูปธรรม
สำหรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะพลาสติกที่จำเป็นต้องนำมาใช้ และจะทวีบทบาทในโลกอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่
• นวัตกรรมอัพไซคลิ่ง : Upcycling ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรีไซเคิล และเป็นวิธีการแก้ปัญหาพลาสติกเหลือทิ้งที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยเป็นการนำขยะมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เป็นสิ่งใหม่ สามารถนำมาใช้ได้ในรูปแบบใหม่ๆ โดยไม่สร้างขยะกลับคืนสู่วงจรขยะพลาสติกอีกครั้ง เช่น การนำมาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์สำนักงาน สินค้าไลฟ์สไตล์ เป็นต้น
• พลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือไบโอพลาสติก ซึ่งเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์และแบคทีเรียตามธรรมชาติ โดยสามารถผลิตจากวัตถุดิบที่สามารถผลิตทดแทนขึ้นใหม่ได้ในธรรมชาติ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ มีคุณสมบัติในการใช้งานใกล้เคียงพลาสติกจากปิโตรเคมีแบบดั้งเดิม และพลาสติกชีวภาพแบบย่อยสลายได้จะกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ 100% ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับการใช้งานเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
• นวัตกรรมเพื่อการจัดการไมโครพลาสติก เนื่องจากไมโครพลาสติกถือเป็นพลาสติกขนาดเล็กและมองไม่เห็น ซึ่งมักจะปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ทะเล และทำให้สัตว์ต่างๆ เสียชีวิต ตามที่ปรากฏในข่าวสาร เรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยผู้ประกอบการและต้นทางในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องควรให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง ด้วยการหาวัสดุทดแทนหรือมีกระบวนการจัดการที่รัดกุม เพื่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่ดีขึ้นทั้งระบบ
• การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นพลังงาน เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ โดยสามารถนำขยะพลาสติกที่มีอยู่จำนวนมหาศาลมาแปรรูปเป็นพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า ฯลฯ การพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบนี้ยังจะช่วยลดต้นทุนในกิจกรรมดังกล่าว พร้อมสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย
ล่าสุด NIA โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม ร่วมกับ Phoenixict Co., Ltd. - Sinwattana Crowdfunding จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การออกแบบโครงการด้านการบริหารจัดการขยะพลาสติก” เพื่อดึงดูดผู้ที่มีแนวคิดและไอเดียการออกแบบนวัตกรรมที่มุ่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้มีโอกาสนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้เพื่อรับสนับสนุนเงินทุน และนำโครงการไปต่อยอดเพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา NIA ยังมีโครงการที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน (City & Community Innovation Challenges ) ซึ่งเป็นการเปิดรับข้อเสนอโครงการนวัตกรรมที่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเมืองหรือชุมชน โดยเฉพาะในหัวข้อ “เมืองแห่งนวัตกรรมสีเขียว” และการเปิดรับข้อเสนอ “โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”
ผลจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มีนวัตกรรมด้านการจัดการขยะพลาสติกที่เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เช่น นวัตกรรมการบริหารจัดการขยะชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างจากเศษขยะพลาสติกชุมชนมาใช้ในการผลิตวัสดุก่อสร้างที่มีมวลรวมน้ำหนักเบา , นวัตกรรมเครื่องอัดขยะในครัวเรือน แอปพลิเคชัน Recycle Day เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลในการคัดแยกขยะ และสามารถเชื่อมโยงกลุ่มผู้รับซื้อของเก่ากับกลุ่มผู้ที่ต้องการขายของเหลือใช้ที่จะช่วยให้สะดวกสบายมากขึ้น และนวัตกรรมเครื่องผลิตเชื้อเพลิงสำหรับเผาศพจากขยะพลาสติกชุมชน
นอกจากนี้ ในปี 2563 เอ็นไอเอยังเตรียมเดินหน้าโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งเฟ้นหา ”นวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติก” (Plastic Waste Management Innovation) 5 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมการจัดเก็บขยะพลาสติก นวัตกรรมการคัดแยกขยะพลาสติก นวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติก นวัตกรรมการกำจัดขยะพลาสติก และการสร้างความมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะพลาสติก โดยจะเปิดรับข้อเสนอแนวคิดขั้นต้น ตั้งแต่วันที่ 3-28 กุมภาพันธ์ 2563
NIA มุ่งหน้าเป็นหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะพลาสติกอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม สตาร์ทอัพ หน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวเพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นทั้งในประเทศไทยและสังคมโลก ผู้ที่มีแนวคิดหรือไอเดียด้านการพัฒนานวัตกรรมด้านการบริหารจัดการขยะพลาสติก สามารถสอบถามข้อมูลการสนับสนุนโครงการเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ facebook.com/niathailand
ที่มา : Manager online 31 ธันวาคม 2562 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000124434]