สังเกตไหมว่าช่วงนี้อุณหภูมิที่วัดได้กับอุณหภูมิที่รู้สึกจริงแตกต่างกันมาก บางคนเปรียบเทียบความร้อนในช่วงนี้เหมือนซ้อมตกนรกเลยทีเดียว ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เราร้อนกายนั้นไม่ได้มีเพียงแค่อุณหภูมิ แต่ “ความชื้น” ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ร้อนมากขึ้น

เวรพยากรณ์อากาศกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า ช่วงเปลี่ยนฤดูนั้นมีความชื้นสูง ทำให้เรารู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิที่วัดได้ เมื่อค้นข้อมูลจึงทราบว่าความร้อนที่เรารู้สึกนั้นวัดได้จากค่า “ดัชนีความร้อน” (Heat Index) ซึ่งตามคำอธิบายขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือ โนอา (NOAA) ระบุว่า ดัชนีความร้อนคืออุณหภูมิที่ร่างกายมนุษย์รู้สึกตามความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิของอากาศและความชื้น
โนอาระบุด้วยว่า ดัชนีความร้อนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพิจารณาความสบายทางกายของมนุษย์ เมื่อร่างกายร้อนขึ้นก็จะเริ่มมีเหงื่อออกแต่หากเหงื่อออกแล้วไม่สามารถระเหยได้ จะทำให้ร่างกายปรับอุณหภูมิไม่ได้ การระเหยเหงื่อเป็นกระบวนการทำความเย็น เมื่อเหงื่อที่ออกมาจากร่างกายระเหยไปก็จะลดอุณหภูมิของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทว่าความชุ่มชื้นในบรรยากาศหรือความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมีสูง อัตราการระเหยของเหงื่อจากร่างกายก็จะลดลง หรืออีกแง่หนึ่งร่างกายจะรู้ร้อนขึ้นเมื่ออยู่ในสภาวะที่มีความชื้น ในทางตรงกันข้ามเมื่อความชื้นสัมพัทธลดลง อัตราการระเหยของเหงื่อก็เพิ่มขึ้น ซึ่งร่างกายจะรู้สึกเย็นจริงๆ เมื่ออากาศแห้ง
นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างอุณหภูมิของอากาศความชื้นสัมพัทธ์ และดัชนีความร้อน เมื่ออุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น ดัชนีความร้อนก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่หากอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ลดลง ดัชนีความร้อนก็ลดลงด้วย
จากตารางดัชนีความร้อนของโนอา (เมื่อแปลงเป็นอุณหภูมิในหน่วยองศาเซลเซียสที่คนไทยคุ้นเคยแล้ว) เมื่ออุณหภูมิของอากาศวัดได้ 28 องศาเซลเซียส แต่ร่างกายรับรู้ว่าเป็นอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส (95 องศาฟาเรนไฮต์) หากความชื้นสัมพัทธ์สูงถึง 100% หรืออีกตัวอย่างที่อุณหภูมิอากาศ 36 องศาเซลเซียสและมีความชื้นสัมพัทธ์ 40% ร่างกายจะรู้สึกถึงอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส (100 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่ต่างจากอุณหภูมิอากาศ 29 องศาเซลเซียสแต่มีความชื้นสัมพัทธ์ถึง 95%

ที่มา : Manager online 13 พฤษภาคม 2563  [https://mgronline.com/science/detail/9630000049979]