วันนี้ ที่ 'วังหว้า...ชุมชนอยู่ในจังหวัดระยอง’ ก้าวไปสู่การจัดการขยะแบบยั่งยืน และสร้างสวัสดิการมากมายให้คนในชุมชน

ชุมชนที่นี่ประสบความสำเร็จในการแปลงขยะเป็นความเป็นอยู่ที่ดี จนได้รับการนำเสนอผ่าน National Geographic ไปทั่วโลกในฐานะชุมชนต้นแบบที่นำขยะมาใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจร นับว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายๆ คน หลายๆ ชุมชนที่คิดจะเริ่มทำให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ บริษัท ดาว ภายใต้โครงการ PPP Plastics ร่วมสนับสนุนชุมชนวังหว้าและจังหวัดระยองสร้างเมืองสะอาด เพื่อความสุขชาวระยองทุกคน และเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ'
สำหรับโครงการ PPP Plastic (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) ของพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนเพื่อการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ปีนี้ดำเนินการเป็นปีที่ 2 ซึ่งมีหลักหมุดสำคัญ คือสามารถจัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 หรือ roadmap การจัดการขยะพลาสติก โดยมีเป้าหมายนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ในปี 2570 และขยายความร่วมมือสู่ 36 องค์กร จากจุดเริ่มต้น 15 องค์กร
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พันธมิตร PPP Plastic ได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อการจัดการพลาสติกที่ยั่งยืนในพื้นที่เป้าหมายที่จัดทำเป็นโมเดลการจัดการขยะพลาสติก 2 แห่ง คือ1. โมเดลเมือง ที่เขตคลองเตย กรุงเทพฯ และ 2. โมเดลจังหวัด ที่ระยอง
โดยพื้นที่ระยอง นับว่าเป็นโมเดลที่ชัดเจนที่สุด จึงปักหมุดให้ระยองเป็นพื้นที่เป้าหมายในการนำร่องกำจัดขยะพลาสติกอย่างครบวงจร เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลขยะพลาสติก และยังอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเกิดการขยายตัวของเมืองอีกมากในอนาคต รวมทั้งยังมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และภาครัฐที่เข้มแข็งมีความพร้อมในการดำเนินงาน จึงเหมาะสมที่จะเป็นจังหวัดเริ่มต้นในโครงการนี้
ทางพันธมิตร PPP Plastic ตั้งเป้าหมายสำหรับ “ระยองโมเดล” จะนำขยะพลาสติกมารีไซเคิลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ภายใน 5 ปีนี้ และสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อเดือน และภายในปี 2565 “ระยอง” จะไม่มีการฝังกลบขยะพลาสติก

ที่มา : Manager online 9 ธันวาคม 2562 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000117622]