เป็นที่รู้กันว่าราคายางพารามีราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน บางรายถึงกับเปลี่ยนอาชีพ และปี 2555 เป็นช่วงวิกฤตหนักวงจรธุรกิจล่มสลาย

และหนึ่งในนั้นคือ “สุไลมาน ดือราโอะ” ที่ได้รับผลกระทบจากเดิมที่ยึดอาชีพรับซื้อยางพาราแผ่น ยางก้อนถ้วย ได้เข้ารับปรึกษาจากนักวิชาการ จนได้ไอเดียนำน้ำยางพาราดิบมาแปรรูปเป็นกระถางปลูกมะนาว และพัฒนาอย่างต่อเนื่องกลายเป็นรายได้สร้างงานให้ชุนชน บาเลาะ จ.ปัตตานี
ไอเดียการทำกระถางต้นไม้จากน้ำยางพาราดิบ ของ “สุไลมาน ดือราโอะ” เกิดจากการเข้าขอรับคำปรึกษาด้านการแปรรูปน้ำยางพาราดิบให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น หวังนำรายได้มาหล่อเลี้ยงครอบครัว จากนักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งในช่วงที่เข้าขอรับคำปรึกษาได้เห็น อาจารย์นำน้ำยางมาแปรรูปเป็นยางแผ่นขนาดใหญ่สำหรับปูสระน้ำ จึงเกิดไอเดีย นำน้ำยางพาราดิบมาขึ้นรูปเป็นกระถางปูนซีเมนต์บ้าง เพื่อขายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะนาว ซึ่งเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ผู้คนนิยมปลูกมะนาวกันมาก เพราะได้ราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมาก
ดังนั้นเขาจึงรวมกลุ่มชาวบ้านจัดตั้งขึ้นเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านบาเลาะ” โดยมีนายสุไลมาน เป็นประธาน เขาเล่าว่า เมื่อราคายางตกต่ำไม่เป็นไปตามกลไกของตลาด จึงต้องหาทางออก จนไปเห็นการนำน้ำยางดิบมาขึ้นรูปเป็นแผ่นปูสระน้ำของอาจารย์ จึงเกิดไอเดียนำมาทำเป็นกระถางสำหรับปลูกมะนาวบ้าง ขนาดเท่ากับถังปูนซีเมนต์ แต่คุณลักษณะที่พิเศษกว่า คือ น้ำหนักเบา พับเก็บสะดวก ขนย้ายง่าย
“เมื่อเราทำกระถางต้นไม้จากยางพารา ก็มีหน่วยงานราชการมาอุดหนุน และบอกต่อๆ กันไป รวมถึงเปิดขายในช่องทางออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้าทั่วประเทศ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางดิบหลายเท่าตัว และยังทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้นประมาณ 7-8 พันบาท/ครัวเรือน”
สำหรับขั้นตอนการผลิตกระถางยางพารา เริ่มจากนำผ้าด้ายดิบมาตัดให้มีขนาด 80×50 ซม. แล้วนำไปขึ้นรูปสวมเข้ากับโครงต้นแบบเหล็กดัด จากนั้นนำน้ำยางคอมปาวด์ (Compounding) ที่เตรียมไว้บรรจุในถังความดัน มาพ่นเคลือบทับไปบนผ้าเย็บขึ้นรูปทั้งสองด้าน โดยให้มีความหนาอย่างน้อยด้านละ 2 มม. ก่อนนำเข้าตู้อบลมร้อนใช้เวลา 6 ชั่วโมงเป็นอันเสร็จ ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีตู้อบ สามารถนำมาตากแดดได้ 2-3 วันก็จะใช้ได้
โดยราคาขายเริ่มต้นที่ใบละ 150 บาท เป็นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 ซม. น้ำหนัก 1.5 กก. และราคา 300 บาท ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 ซม. น้ำหนักไม่ถึง 1 กก. ลูกค้าส่วนใหญ่จะชื่นชอบกระถางขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มคนเมือง อาศัยตามบ้านและคอนโด โดยมีพื้นที่ไม่มากนัก นิยมซื้อไปปลูกต้นไม้ เพราะมีน้ำหนักเบา ขนย้ายก็สะดวก แต่หากไม่ได้ใช้งานแล้วก็สามารถพับเก็บได้ไม่เกะกะพื้นที่ใช้สอย จัดส่งในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 5-10 ใบ
ขณะที่เกษตรกรก็นำไปปรับเปลี่ยนได้หลายรูปแบบตามการใช้งาน นอกจากนำไปปลูกมะนาวแล้ว ยังนำไปปลูกข้าวในนาได้ โดยนำข้าวที่ใช้น้ำน้อยมาทดสอบปลูกในกระถางยางพารา พร้อมกระตุ้นข้าวให้เกิดความหอม ด้วยวิธีบังคับการให้น้ำ ปรากฏว่าได้ผลดี จึงเตรียมขยายความรู้นี้สู่เกษตรกรในอีกหลายพื้นที่ ซึ่งกระถางยางพาราไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช หรือสารเคมีเจือปน เนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่ล้วนมาจากธรรมชาติ อายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 5 ปี
ปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 100-200 ใบ/วัน เป็นงานแฮนด์เมดล้วนๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ค่อยเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านบาเลาะ จ.ปัตตานี ตัดสินใจขอสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย กับสินเชื่อที่ชื่อว่า “เถ้าแก่ 4.0” เพื่อนำไปซื้อน้ำยางจากชาวบ้านในชุมชน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นๆ รวมถึงสีสันใหม่ที่จะมีเพิ่มเติมเข้ามาในอนาคต นอกจากนี้เขายังได้รับแนะนำด้านการดำเนินธุรกิจ การทำบัญชี การวางแผนการตลาด พัฒนาบรรจุภัณฑ์ จากเจ้าหน้าที่ของธนาคารฯ เพื่อรองรับตลาดส่งออกไปยัง สปป.ลาว และมาเลเซียเร็วๆ นี้

https://mgronline.com/smes/detail/9610000123497

ที่มา : Manager online 13 ธันวาคม 2561 [https://mgronline.com/smes/detail/9610000123497]