กฟผ. และ กรอ. ร่วมลงนาม MOU โครงการศึกษาการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย
นับเป็นบูรณาการศักยภาพและประสบการณ์ เพื่อศึกษาแนวทางการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศ ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมคาดหวังต่อยอดผลการศึกษาสู่การจัดตั้งโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ต้นแบบของไทย
ประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ให้ได้ 15,574 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580 และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ทั้งสองกรณีจะทำให้เกิดซากเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์ประกอบ และซากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก แต่ปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีและการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่อย่างเป็นระบบและครบวงจร ซึ่งอายุการใช้งานของแผงโซลาเซลล์ โดยเฉลี่ยประมาณ 20 ปี คาดว่าในปี 2565 จะมีซากจากแผงโซลาเซลล์เกิดขึ้น 112 ตัน และจะเพิ่มเป็น 1.55 ล้านตัน ในปี 2600
"หากว่าเราไม่มีการวางแผนที่เหมาะสม นอกจากจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแล้ว ยังจะเป็นปัญหาอุปสรรคต่อแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ตามนโยบายรัฐบาล ในส่วนของ กรอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความมุ่งมั่นในการยกระดับอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้กับ กฟผ. เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะสามารถบริหารจัดการซากทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม"
ด้าน พัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ.กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงการใช้แบตเตอรี่ทั้งจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น กระทรวงพลังงานจึงได้มีนโยบายให้ กฟผ. ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีส่วนส่งเสริมและผลักดันการใช้เทคโนโลยีพลังงาน ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และรถยนต์ไฟฟ้า ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่หลังสิ้นสภาพการใช้งานอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารการใช้ทรัพยากรภายในประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว มาแปรรูปและนำกลับไปใช้อีกในอนาคต อันมีส่วนเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่ง กฟผ. คำนึงถึงและดำเนินการควบคู่กับภารกิจหลักในการรักษาความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศมาโดยตลอด
นอกจากจะช่วยสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมแล้วยังเป็นการบริหารทรัพยากรในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย
เนื่องจากจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี ข้อเสนอแนะ และแนวทางการบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย เพื่อนำมาประกอบการศึกษาความความเหมาะสมใน การพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศ โดยมีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม และมีขอบเขตความร่วมมือที่ กรอ.จะให้การสนับสนุนด้านข้อมูล ได้แก่ 1) ข้อมูลแนวโน้มซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทย 2) ข้อมูลจากการพิจารณาแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรม และ 3) ข้อมูลจากการศึกษาทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย
ส่วนของ กฟผ. ที่จะรับผิดชอบในการดำเนินงาน ได้แก่ 1) ศึกษาเทคโนโลยีการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสมสำหรับประยุกต์ใช้กับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย 2) ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย ควบคู่กับการพิจารณาตามแนวทางการเก็บรวบรวมซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่จากภาคอุตสาหกรรมตามข้อมูล กรอ. และ 3) ศึกษาเทคโนโลยีและแนวทางการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ ที่อาจสามารถนำมาบูรณการกับโรงงานบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย
ที่มา : Manager online 26 มกราคม 2563 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000008364]