จากเศษเส้นใย “ป่านศรนารายณ์” ที่หลงเหลือระหว่างการปั่นเพื่อเย็บถักเป็นกระเป๋า นักวิจัยด้านสิ่งทอได้ช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านนำไปผลิตต่อเป็น “กระดาษสา” เพื่อใช้ผลิตถุงกระดาษและบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าชุมชน และเป็นอีกทางเลือกเพื่อลดใช้ถุงพลาสติก

ดร.เกษม มานะรุ่งวิทย์ จากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เล่าให้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังว่า ได้เข้าไปช่วยชาวบ้านในหมู่บ้านหุบกระพง ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี พัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยป่านศรนารายณ์ที่ชาวบ้านในชุมชนปลูกเป็นอาชีพ
หนึ่งในการช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยป่านศรนารายณ์คือ การส่งเสริมให้ชาวบ้านได้นำเศษเส้นใยป่าน (ที่หลงเหลือจากการปั่นเส้นใยเพื่อถักและตัดเย็บเป็นกระเป๋า) มาผลิตเป็นกระดาษสา เพื่อใช้ทำถุงกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งนอกจากช่วยชาวบ้านลดค่าใช้จ่ายแล้ว ดร.เกษม ระบุว่ายังเป็นอีกวิธีในการลดใช้ถุงพลาสติก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้วย
สำหรับงานหลักๆ ที่ ดร.เกษมและคณะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มชาวบ้านหุบกระพงคือการออกแบบกระเป๋าให้ทันสมัย โดยได้ช่วยชาวบ้านออกแบบกระเป๋าจากป่านศรนารายณ์กว่า 60 แบบ และช่วยพัฒนาให้เส้นใยที่ได้นุ่มนวลขึ้น เพื่อยกระดับและราคาของผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านหุบกระพงในโครงการตามพระราชประสงค์ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ผลิตขึ้นมาจำหน่าย
“ชาวบ้านที่หุบกระพงเขาปลูกป่านศรนารายณ์เพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพอยู่แล้ว และภายในหมู่บ้านก็มีกลุ่มที่รับเอาป่านนั้นมาผลิตเป็นกระเป๋าอีกที ใครถนัดด้านใดก็ทำในด้านนั้น ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนทุกกลุ่มในชุมชน” ดร.เกษมระบุ และบอกว่าในเบื้องต้นผลิตกระดาษได้ 200 และตอนนี้ชาวบ้านกำลังรวมตัวเป็นกลุ่มผลิตกระดาษ
สำหรับเส้นใยป่านศรนารายณ์นั้นมีความเหนียวและคงทนสูง ไม่ขาดง่าย นิยมใช้เป็นเชือกสมอเรือ และเมื่อโดนน้ำจะยิ่งเหนียวและแข็งแรง แต่กระดาษสาที่ได้จากป่านศรนารายณ์นั้นมีคุณสมบัติเหมือนกระดาษสาทั่วไป เนื่องจากใช้เส้นใยเส้นสั้นๆ ที่หลงเหลือจากการปั่นมาผลิตเป็นกระดาษสา
ส่วนกระเป๋าที่กลุ่มชาวบ้านผลิตขึ้นนั้นมีเส้นใยที่สากมือ ดร.เกษมจึงได้พัฒนากระบวนการผลิตให้เส้นใยนุ่มขึ้น และย้อมด้วยสีธรรมชาติ ส่วนแบบกระเป๋าที่ทีมวิจัยออกแบบนั้น ได้มอบให้แก่กลุ่มผลิตกระเป๋าเพื่อนำไปใช้เป็นต้นแบบโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
งานช่วยเหลือกลุ่มผลิตกระเป๋าจากป่านศรนารายณ์นี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อเข้าร่วมในโครงการความร่วมมือระหว่าง วช.และกองทัพบก ในการขยายองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่ในระดับชุมชนและพื้นที่ สู่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ของกองทัพบก
ทั้งนี้กองทัพบกมีศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอยู่ทั้ง 4 ภูมิภาค ทั้งหมด 46 ศูนย์ อยู่ในภาคเหนือ 15 ศูนย์, ภาคกลาง 10 ศูนย์, ภาคอีสาน 10 ศูนย์, ภาคใต้ 10 ศูนย์ และเพิ่งเพิ่มขึ้นใหม่อีก 1 ศูนย์ โดยกองทัพบกจะคัดเลือกศูนย์ที่มีความพร้อม เพื่อรับการถ่ายทอดงานวิจัยและนวัตกรรมต่อไป
ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการ วช.ระบุว่า เบื้องต้นในปี 2562 จะจับคู่งานวิจัยเข้ากับศูนย์การเรียนให้ได้ 20 ศูนย์ โดยจะเน้นงานวิจัยที่ช่วยเพิ่มสินค้าการเกษตร ซึ่งทางกองทัพมีข้อมูลอยู่แล้วว่าแต่ละพื้นที่มีจุดแข็งหรือปัญหาในเรื่องใด และความร่วมมือระหว่าง วช.และกองทัพบกนี้ จะทำให้การพิจารณาคัดเลือกงานวิจัยให้ตรงความต้องการชุมชนนั้น
"ตัวอย่างบางชุมชนที่ผลิตกล้วยเหลือ เราก็จะนำงานวิจัยเรื่องการแปรรูปไปให้ ถ้าช่วงไหนที่มีผลผลิตล้นตลาด เราก็จะนำมาแปรรูป ซึ่งก็มีตัวอย่างงานวิจัยที่แปรรูปกล้วยให้เป็นแป้งที่สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี ช่วยให้เก็บผลผลิตไว้ได้นานขึ้น" ศ.นพ.สิริฤกษ์กล่าว

ที่มา  : Manager online 18 ธันวาคม 2561 [https://mgronline.com/science/detail/9610000125231]