สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ประกาศความสำเร็จในการย่อส่วนสิ่งของจนเล็กจิ๋วระดับนาโน ซึ่งต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ จึงจะมองเห็น ไม่ต้องง้อไฟฉายย่อส่วนของโดราเอมอน เพราะสามารถใช้อุปกรณ์เลเซอร์พื้นฐาน ถ่ายทอดโครงสร้างของสิ่งของและย่อจนเล็กจิ๋วเหลือ 1 ใน 1,000 ของขนาดจริง

ศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด บอยด์เดน (Edward Boyden) ศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยีประสาทวิทยา ผู้นำการวิจัยครั้งนี้ระบุว่า เทคโนโลยีย่อส่วนนี้มีชื่อเรียกว่า “อิมโพลชัน แฟบริเคชัน” (implosion fabrication) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวัสดุใดก็ได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการพัฒนากล้องจุลทรรศน์ขนาดเล็ก และเลนส์โทรศัพท์มือถือ รวมถึงการสร้างหุ่นยนต์ขนาดเล็ก ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
ศาสตราจารย์เอ็ดเวิร์ด มองว่า หลายปีที่ผ่านมา ชาวโลกพยายามคิดค้นเทคโนโลยีที่ดีกว่า เพื่อผลิตวัสดุนาโนที่มีขนาดเล็ก ทำให้เชื่อว่ามีหลายสิ่งที่จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาวัสดุขนาดเล็ก
อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้อาจไม่เหมือนกับไฟฉายย่อส่วนของโดราเอมอนที่เน้นย่อสิ่งของใหญ่ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ MIT เชื่อว่าจะตอบโจทย์นักวิทยาศาสตร์ที่กำลัหาวิธีพัฒนาหุ่นยนต์จิ๋วเพื่อค้นหาเซลล์มะเร็งในร่างกายมนุษย์ จุดนี้นักวิจัย MIT ย้ำว่า หุ่นยนต์ที่ได้จากเทคโนโลยีนี้จะมีขนาดเล็กกว่าไมโครชิป เนื่องจากเทคโนโลยีนี้สามารถใช้พัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับนาโนชิปได้สบาย
จุดสำคัญของเทคโนโลยีนี้คือเทคนิคที่ทันสมัยแต่เรียบง่ายของ MIT ที่ใช้เลเซอร์ และเจลดูดซับ ซึ่งเป็นเจลเดียวกับที่ใช้ในผ้าอ้อมเด็ก ทั้ง 2 ส่วนเป็นวัสดุชีววิทยาที่ห้องปฏิบัติการด้านวิศวกรรมมักมีอยู่แล้ว
หลักการทำงานของเทคโนโลยีนี้เริ่มด้วยการยิงเลเซอร์แล้วสร้างโครงสร้างสิ่งของนั้นด้วยเจลดูดซับ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการเขียนด้วยปากกาในระบบขึ้นรูป 3 มิติ จากนั้น จึงแนบวัสดุ เช่น โลหะ ดีเอ็นเอ หรืออนุภาค “ควอนตัมดอท” สุดจิ๋วเข้ากับโครงสร้าง สุดท้าย สิ่งของเหล่านี้ก็จะหดโครงสร้างลงได้ในขนาดสุดมินิ
ความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีเชื่อว่าจะปฏิวัติวงการนาโนเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาต้นทุนแพง แถมยังต้องใช้ห้องปลอดเชื้อ ทั้งหมดนี้ถือว่าไม่จำเป็นหากใช้กับเทคโนโลยีใหม่ของ MIT
นักวิจัย MIT เชื่อว่า เทคโนโลยีนี้จะสามารถเข้าถึงได้ง่ายในอนาคต โดยอาจจะแพร่หลายถึงระดับบ้านหรือในโรงเรียน เนื่องจากวัสดุทั้งหมดในเทคโนโลยีนี้ปลอดสารพิษ.

ที่มา : Manager online 18 ธันวาคม 2561 [https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000125283]