เพจ ERTC ปักหมุดรักษ์โลก โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โพสต์เตือนอันตรายของสารประกอบ “พทาเลท” ที่ตรวจพบในหอยที่บริโภค (เมื่อ 21 .ธ.ค.2561) ที่ได้จากการสำรวจพื้นที่เลี้ยงหอย ครอบคลุมทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ทั้งหมด 12 จังหวัด ซึ่งอาจจะเป็นภัยร้ายของพลาสติกที่เรามองไม่เห็น
จากการสืบค้น “สารพทาเลท” ทางเวบไซต์ http://www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?bookID=220&read=true&count=true ระบุว่า พทาเลท (phthalates) เป็นสารเคมีก่อมะเร็งยอดฮิตตัวหนึ่ง ที่มีโอกาสหลุดจากหลุดจากเนื้อพลาสติกเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้เสมอ
ยิ่งในโลกปัจจุบันเราเห็นสิ่งของต่างๆ มากมาย ที่ทำด้วยพลาสติกอยู่ในแทบทุกหนทุกแห่ง เรียกได้ว่ามีของใช้ทำด้วยพลาสติกกันตั้งแต่ไม้จิ้มฟันไปจนถึงเรือรบ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าพลาสติกเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกที่หาซื้อได้ง่าย และมีราคาไม่แพงมากนัก
แต่ใดๆ ในโลกนี้เมื่อมีคุณมากก็อาจมีโทษมากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะพลาสติกใกล้ตัว เช่น ขวดใส่น้ำ หลอดดูด ชาม ฯลฯ ใช้กันมากในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ผู้ใช้เองก็ไม่ทราบว่าอาจจะมีสารเคมีอันตราย ในพลาสติกเหล่านี้หลุดเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว
ในสารพัดข้อสงสัยนี้แม้ยังไม่มีคำตอบชัดเจน แต่ก็ขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับพทาเลท เพื่อให้รับทราบและรู้จักระมัดระวังอันตรายที่อาจจะแอบแฝงอยู่ใกล้ตัว
ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่อปีที่แล้วมีนายแพทย์ท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ทางทีวีหลายช่อง ด้วยเรื่องของพทาเลทว่าพบสารตัวนี้ออกมาจำนวนหนึ่งในของเหลว ที่มีหลอดดูดพลาสติกจุ่มวางแช่อยู่ในตู้เย็น นี่แสดงให้เห็นว่าแม้กระทั่งหลอดดูดในน้ำหรือน้ำผลไม้ ซึ่งจุ่มอยู่ในอุณหภูมิที่คาดไม่ถึงว่าจะมีปัญหาก็ยังไม่ปลอดภัย และก็ไม่เห็นผู้ผลิตภาชนะพลาสติกหรือหน่วยงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องสักราย ออกมาแย้งว่าไม่เป็นความจริง
จึงสงสัยอยู่จนทุกวันนี้ว่าพาทาเลตที่ออกจากพลาสติกมาปนอยู่กับน้ำ และอาหารได้นั้นมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน ในแต่ละวันเรารับสารตัวนี้ เข้าไปมากแล้วหรือยัง แล้วใครจะช่วยปกป้องผู้บริโภคในเรื่องนี้ได้บ้าง
สารพทาเลทอยู่ในพลาสติกใดบ้าง?
พทาเลทมีอยู่ในพลาสติกอ่อนประเภท Soft Vinyl Products มีผสมอยู่ประมาณ 40% โดยน้ำหนัก และพลาสติกประเภทนี้ เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกหนทุกแห่ง ได้แก่ ภาชนะใส่อาหาร เช่น ขวด ชาม ฟิล์มยึดห่ออาหาร เฟอร์นิเจอร์ เช่น พื้นวอลเปเปอร์ เครื่องมือทางการแพทย์ เช่น IV ท่อสำหรับระบาย ถุงใส่เลือด ของสำหรับเด็กเล็ก เช่น ขวดนม ของเล่น ของขบเคี้ยวเล่น ฯลฯ ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา กำหนดให้มีพาทาเลตในพลาสติกได้ไม่เกิน 30%
ส่วนพทาเลทที่ใช้ในวงการพลาสติก มีดังนี้ DEHP หรือ Di (2-ethylhexyl) Phthalate ใช้ผสมในพลาสติกพีวีซี เพื่อทำให้เนื้อพลาสติกอ่อนตัวหรือนุ่มขึ้น ได้แก่ ถุงหรือห่อพลาสติก และฟิล์มยืดห่อสำหรับอาหาร ของเล่น เครื่องมือแพทย์ รวมถึงวัสดุในงานก่อสร้าง
ผู้เชี่ยวชาญจาก Health Care With-out Harm: HCWH ประเทศสหรัฐอเมริกาอธิบายว่า จากการทดสอบผลของพทาเลทชนิดนี้ ในสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการหลายๆ แห่งได้ผลตรงกันว่า สารนี้จะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย คือ จะไปรับกวนอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ตับ ไต ปอด ระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ รบกวนหนักเข้าเซลล์ในร่างกายก็กลายพันธุ์ ไปเป็นมะเร็งในที่สุด
และมีการวิจัยจาก Center for Disease Control เมื่อ พ.ศ. 2544 ระบุย้ำว่า พทาเลทเข้าสู่ร่างกายของเราได้แน่นอน โดยผ่านทางกิน หายใจ สัมผัสทางผิวหนัง และจากการถ่ายเลือด
นอกจากนี้ ยังมีรายงานจาก Consumer Reports ว่าจากการทดสอบเนยแช็ง ที่ห่อหุ้มด้วยฟิล์มยืดห่ออาหารจาก 14 ยี่ห้อใน 14 ประเทศ พบว่ามี DEHP ปนอยู่ในปริมาณสูง คนที่ได้รับประทานเนยแข็งทุกวันก็จะได้ DEHP เป็นของแถมสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยซึ่งเป็นเหตุทำให้ร่างกาย เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมากขึ้น
ที่มา : Manager online [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9610000127273]