นอกเหนือจากขยะต่างๆ รวมถึง “ขยะพลาสติก” ที่ถูกทิ้งลงในแม่น้ำลำคลองและกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ปริมาณผักตบขวาจำนวนมากในแม่น้ำลำคลองก็เป็นปัญหา “ขยะวัชพืช” ที่ต้องเร่งจัดการเช่นกัน ล่าสุด กระทรวงพลังงานร่วมกับบริษัทเชลล์กำลังจะศึกษาความคุ้มค่าในการเปลี่ยนผักตบชวาเป็นก๊าซหุงต้มหรือเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ร่วมมือกับบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำผักตบชวามาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้มหรือเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และในเร็วๆ นี้ จะมีการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศอินเดีย หากมีความเป็นไปได้ในการลงทุนก็จะช่วยแก้ปัญหาผักตบชวาที่มีปริมาณมากจนกลายเป็นขยะวัชพืชในแม่น้ำลำคลองต่างๆ ซึ่งแต่ละปีรัฐต้องเสียงบประมาณอย่างมากในการกำจัด
ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 เคยมีการศึกษาการนำผักตบชวามาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และมีแผนจะจัดตั้งโรงไฟฟ้านำร่องดังกล่าวบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน แต่เมื่อศึกษาแล้วพบว่าวัตถุดิบและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่เหมาะสม จึงไม่ได้จัดตั้งโรงไฟฟ้า สำหรับการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า มี 4 จังหวัดที่มีผักตบชวาปริมาณมาก ได้แก่ 1. สุพรรณบุรี มีปริมาณผักตบชวา 1.4 แสนตันต่อปี ผลิตก๊าซชีวภาพได้ 1.1 แสนลูกบาศก์เมตรต่อปี 2. นครปฐม มี 1.13 แสนตันต่อปี ผลิตได้ 9 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี 3. ชัยนาท มี 1 แสนตันต่อปี ผลิตได้ 8.7 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อปี และ4. สมุทรสาคร มี 5 พันตันต่อปี ผลิตได้ 4 พันลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เมื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการตั้งโรงไฟฟ้าจากผักตบชวาพบว่า ต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนนานถึง 15-26 ปี จึงเห็นว่าควรนำก๊าซชีวภาพที่ได้มาผลิตเป็นก๊าซหุงต้ม (LPG)จะเหมาะกว่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อจะมีการศึกษาใหม่อีกครั้ง จะสำรวจผักตบชวาในพื้นที่ดังกล่าวใหม่ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม หากจะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ คาดว่าต้องใช้เวลาศึกษา 1 ปี แต่หากเป็นนโยบายเร่งด่วน ควรนำโครงการนำร่องที่เคยศึกาไว้แล้วมาศึกษาเพิ่มเติม เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินโครงการ

ที่มา : Manager online 8 มกราคม 2562 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000002401]