โลกในวันนี้กำลังเผชิญกับ “อากาศสกปรก” โดยรายงานจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization)หรือ WHO กล่าวว่าเมืองใหญ่เกือบทุกแห่งถูกปกคลุมด้วยมลพิษทางอากาศ
สำหรับประเทศไทย ไม่เพียงกรุงเทพฯ แต่เมืองอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน และในบางครั้งเข้าขั้นวิกฤต
ไปดูตัวอย่างจาก 7 ประเทศทั่วโลกว่ากำลังรับมือและจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างไรบ้าง
1.นิวเดลี ประเทศอินเดีย
ออกนโยบายห้ามรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่และรถ SUV ที่มีเครื่องยนต์แรงม้ามากกว่า 2000 ซีซี พร้อมทั้งบังคับรถแท็กซี่ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลหลายพันคันให้หยุดวิ่ง นอกจากนี้ ยังทดลองนโยบายการให้รถยนต์เลือกหยุดวิ่งในวันคี่หรือวันคู่ และกระตุ้นให้ผู้คนใช้ขนส่งสาธารณะ เช่น รถตู้อูเบอร์มากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียยังไม่มีมาตรการการจัดการมลพิษทางอากาศกับภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การเผาทำลายซากผลผลิตจากเกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าถ่านหิน
2.ประเทศเกาหลีใต้
รัฐบาลเกาหลีใต้ชุด มุน แจอิน อนุมัติให้ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 8 แห่งชั่วคราว เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเหล่านี้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิเป็นเวลา 4 เดือน และมีแผนจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงเก่าอย่างถาวรภายในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ.2563 เพื่อลดมลพิษทางอากาศและทำตามข้อตกลงปารีส เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แม้ว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินเหล่านี้ผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศถึงร้อยละ 40
3.ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
สนับสนุนประชาชนให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยไม่อนุญาตให้รถยนต์ส่วนตัววิ่งในย่านศูนย์กลางเมืองในช่วงวันสุดสัปดาห์ ห้ามใช้รถยนต์ในย่านฌ็องเซลิเซ่ 1 ครั้งต่อเดือน และสนับสนุนการใช้จักรยานโดยจัดทำโครงการยืมจักรยาน หรือเรียกว่าธนาคารจักรยาน
4. ไฟรบวร์ค ประเทศเยอรมนี
เมืองไฟรบวร์คสนับสนุนการใช้จักรยานในการเดินทาง โดยมีทางจักรยานยาวกว่า 500 กิโลเมตร มีรถรางและระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก นอกจากนี้ ในย่านชานเมืองบางแห่งยังห้ามไม่ให้ประชาชนจอดรถยนต์ใกล้ๆ บ้าน ซึ่งทำให้เจ้าของรถต้องเสียเงินเช่าพื้นที่จอดรถกว่า 18,000 ยูโร หรือประมาณ 660,162 บาท
5.ประเทศเนเธอร์แลนด์
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีการเสนอนโยบายห้ามการขายรถยนต์ดีเซล และหากร่างนโยบายนี้ผ่านการอนุมัติจะมีผลบังคับใช้ภายในปีพ.ศ.2568 (ค.ศ.2025) โดยการขายรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม ร่างนโยบายนี้อนุโลมให้ประชาชนที่มีรถยนต์ดีเซลอยู่ก่อนแล้วสามารถใช้รถต่อไปได้
6.ออสโล ประเทศนอร์เวย์
เมืองออสโลมีแผนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020) โดยกำหนดโซน “ปลอดรถคันใหญ่” และเริ่มทำทางจักรยานใหม่ที่มีระยะทางรวมกว่า 40 ไมล์ นอกจากนี้ยังเพิ่มค่าธรรมเนียมรถติดกับผู้ใช้รถยนต์ในชั่วโมงเร่งด่วน และลดพื้นที่ลานจอดรถหลายแห่ง
7.โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
เมืองโคเปนเฮเกนให้ความสำคัญกับการใช้จักรยานทดแทนรถยนต์ส่วนตัว แนวคิดของการใช้จักรยานคือการคิดถึงมูลค่าของจักรยานเทียบกับรถยนต์ โดยการขี่จักรยาน 1 ไมล์ให้มูลค่ากับชุมชนประมาณ 0.42 ดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่การขับรถยนต์ส่วนตัวเป็นระยะทาง 1 ไมล์ให้มูลค่ากับชุมชนประมาณ 0.20 ดอลล่าร์สหรัฐ นอกจากนี้เมืองส่วนใหญ่ในเดนมาร์กเริ่มทยอยหยุดใช้รถยนต์มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว เพื่อทำตามนโยบายเมืองที่มุ่งจะเป็น “เมือง Carbon Neutral” หรือเมืองที่มีกิจกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับศูนย์ภายในปีพ.ศ.2568 (ค.ศ.2025)
ที่มา : Manager online 16 มกราคม 2562 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000005344]