แผ่นแปะลดไขมันใต้ผิวหนัง ผลงานวิจัยจากแล็บจุฬาฯ ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการลดไขมันเฉพาะส่วน ดึงเทคโนโลยีนาโนมาช่วยนำส่งสารสมุนไพรที่มีฤทธิ์สลายไขมันเข้าสู่ผิวหนัง

แผ่นแปะลดไขมันใต้ผิวหนัง ผลงานวิจัยจากแล็บจุฬาฯ ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการลดไขมันเฉพาะส่วน ดึงเทคโนโลยีนาโนมาช่วยนำส่งสารสมุนไพรที่มีฤทธิ์สลายไขมันเข้าสู่ผิวหนัง เริ่มจากส่วนแขน หน้าท้อง เตรียมขยายไลน์ส่วนต้นขา สะโพก เล็งส่งต้นแบบทดสอบตลาดก่อนผลิตสู่เชิงพาณิชย์
ผลงานวิจัยได้รับรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก อีกทั้งได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการหลายรายที่ขออนุญาตใช้สิทธิ ล่าสุดได้รับทุนในโครงการดำเนินกิจกรรมผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Research Gap Fund-TED Fund) เพื่อผลิตสินค้าต้นแบบออกมาทดลองตลาด ก่อนที่จะผลิตออกสู่เชิงพาณิชย์กับบริษัทที่เข้ามาขออนุญาตใช้สิทธิ จากสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาจุฬาฯ
นาโนฟอร์มแก้ปัญหาเฉพาะจุด
ผศ.นพ.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวคิดในการพัฒนาแผ่นแปะลดไขมันใต้ผิวหนังเกิดจากองค์ความรู้ที่ได้เรียนมาจนกระทั่งเป็นอาจารย์สอนในคณะแพทยศาสตร์เกี่ยวกับชีววิทยาของไขมัน ซึ่งพบว่า ไขมันแต่ละประเภททำงานไม่เหมือนกัน หรือทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคต่างกัน อีกทั้งสนใจศึกษาวิจัยยาลดไขมันหรือยาลดความอ้วน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีผลข้างเคียง
จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนายาจากสมุนไพร อาทิ สารสกัดจากผิวองุ่นแดงที่มีฤทธิ์ลดไขมันช่วยเรื่องระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหลอดเลือด, กรดไลโปอิกในพืชผักใบสีเขียวเข้ม คาเฟอีน และสารสกัดสมุนไพรอื่นๆ ที่ช่วยลดไขมันใต้ผิวหนังมาพัฒนาเป็นสูตรเฉพาะ ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาจุฬาฯ ทั้งกระบวนการผลิตและรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผลงานที่ ผศ.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ นางสาวสโรชา เชิดโฉม และทีมวิจัย เป็นผู้พัฒนา
ปัจจุบันยาลดไขมันส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดรับประทานอาจส่งผลข้างเคียง ส่วนผลิตภัณฑ์ครีมหรือเจล ต้องอาศัยการถูและนวดเพื่อให้ตัวยาซึมเข้าสู่ผิวหนังและออกฤทธิ์เฉพาะจุด ผู้ใช้บางคนอาจไม่สะดวกที่จะทาถูนวดอย่างสม่ำเสมอ ทำให้การใช้ผลิตภัณฑ์ไม่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น จึงสร้างความแตกต่างด้วยการนำนาโนเทคโนโลยีมาช่วยนำส่งยาที่มีฤทธิ์สลายไขมันเข้าสู่ผิวหนัง ด้วยความสามารถในการขนส่งยาที่ดีของอนุภาคนาโนจะช่วยให้การออกฤทธิ์ของยามีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้เกิดการสลายไขมันยาวนานขึ้น อีกทั้งรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นแผ่นแปะ จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ที่ไม่ต้องเสียเวลาในการทาหรือนวด
“เราพัฒนาเป็นนาโนฟอร์ม ทำให้สารสกัดจากธรรมชาติสามารถซึมผ่านผิวหนังได้เร็วและมีผลเฉพาะจุดตามต้องการ จึงสามารถใช้ได้ทั้งกับคนอ้วนและคนไม่อ้วน แต่ต้องการขจัดไขมันส่วนเกินเฉพาะจุด ที่สำคัญตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไม่อยากรับประทานยา”
แผ่นแปะนี้จะเป็นการลดไขมันจากใต้ผิวหนังส่วนบน เช่น แขน หน้าท้อง จากการทดลองในอาสาสมัครเป็นเวลา 2 สัปดาห์เห็นผลเป็นที่น่าพอใจ คาดว่า ไตรมาส 2 นี้จะเห็นตัวผลิตภัณฑ์ออกมาวางจำหน่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไป แต่ผู้ชายก็สามารถใช้ได้ ในอนาคตอาจจะผลิตเฉพาะของผู้ชายแยกออกมาอีกเซกเมนต์หนึ่ง ส่วนไขมันส่วนล่าง เช่น ต้นขา สะโพก จะเป็นผลิตภัณฑ์ถัดไปเช่นเดียวกับใบหน้า เพราะปัจจุบันไม่มีนวัตกรรมอะไรที่สามารถใช้ได้กับทุกคน หรือทุกส่วนของร่างกาย
นวัตกรรมต้องใช้เวลา และผู้รู้
ทีมงานใช้เวลา 2 ปีครึ่งในการพัฒนาแผ่นแปะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปริญญานิพนธ์ของ นางสาวสโรชา ที่เพิ่งได้รางวัลประกวดผลงานวิจัยปริญญาเอก ระดับดีเด่นประจำปี 2561 และล่าสุด มีบริษัทติดต่อเข้ามาเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยให้ทางนิสิตร่วมเป็นโคฟาวเดอร์ เพื่อทำหน้าที่ต่อยอดนวัตกรรมออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ เพราะงานวิจัยที่ออกสู่เชิงพาณิชย์จนประสบความสำเร็จเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องผ่านหุบเหวหลายขั้นตอน สถาบันการศึกษาไม่เก่งในเชิงพาณิชย์ ส่วนภาคธุรกิจไม่สามารถพัฒนาต่อยอดได้โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและกลาง แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนให้นำบุคลากรภาควิจัยไปทำงานร่วมกับภาคธุรกิจเพื่อให้สามารถต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง ไม่ใช่แค่การขายไลเซนส์
"เราพยายามผลักดันให้นิสิตที่ทำงานวิจัยออกตั้งบริษัทตนเอง เป็นสตาร์ทอัพที่โฟกัสที่สินค้า 2-3 ชิ้นแต่มีความพิเศษเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร มีสิทธิบัตรคุ้มครองและสามารถพัฒนาสินค้านั้นไปสู่ระดับโลกได้ เป็นการพัฒนาผลงานวิจันไปสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์”
ผศ.นพ.อมรพันธุ์ กล่าวว่า รูปแบบการทำธุรกิจปัจจุบันแตกต่างจากเดิม เทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปความเชื่อความคิดแบบเดิมให้เปลี่ยนไปเกิน 20 ปีต่อจากนี้วงการแพทย์จะเปลี่ยนไปจะเป็นการแพทย์แบบแม่นยำ อนาคตอาจต้องตรวจดีเอ็นเอของผู้ป่วยก่อน เพื่อดูว่ายาตัวไหนได้ผล ตัวไหนไม่ได้ผล เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา : Bangkokbiznews 22 มกราคม 2562 [http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/824804]