นักวิจัย มช. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพลาสติกชีวภาพคุณภาพสูงสำหรับเครื่องมือแพทย์ พร้อมส่งต่อ ปตท. ทำตลาด หวังลดการนำเข้า เอื้อคนไทยเข้าถึงบริการการแพทย์ในราคาเอื้อมถึง ลุ้นต่อยอดไหมเย็บแผลละลายได้บุกตลาดเอเชียแบบคู่ขนาน
ไทยต้องสั่งนำเข้า “เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” แล้วนำมาขึ้นรูปเป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อมใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมปลายน้ำของพลาสติกที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและคาดว่าจะต่อเนื่องไปในอนาคต
นวัตกรรมทำน้อยได้มาก
“เรามองเห็นโอกาสและต้องการเทคโนโลยีการผลิตพลาสติก และนวัตกรรมการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ทีมวิจัยจึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเกรดทางการแพทย์ โดยใช้วัตถุดิบชีวมวลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นมูลค่าต่ำ เพื่อนำไปใช้เป็นเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตวัสดุทางการแพทย์ที่สามารถย่อยสลายได้ในร่างกาย” ผศ.วินิตา บุณโยดม หัวหน้าศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าว
การวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพได้เริ่มตั้งแต่ปี 2550 ก่อนจะขยับสู่พลาสติกชีวภาพที่ใช้ในทางการแพทย์ เนื่องจากพลาสติกชีวภาพเกรดใช้เชิงพาณิชย์นั้น มีบริษัทเอกชนทำและจำหน่ายแล้ว การที่มหาวิทยาลัยจะทำแข่งเป็นไปได้ยาก จึงมองหาตลาดใหม่ที่ทำน้อยแต่ได้มาก อย่างเกรดที่ใช้ในทางการแพทย์ที่มีกระบวนการผลิตที่ยากและซับซ้อนกว่า
ม.เชียงใหม่ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ได้ร่วมทุนสนับสนุนโครงการผลิตพอลิเมอร์ดูดซึมได้คุณภาพสูงสำหรับเครื่องมือแพทย์ โดยสร้างห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์ที่ มช. เป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้การรับรอง ISO 13485 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาใหม่
เม็ดพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพประเภทพอลิเอสเทอร์เกรดทางการแพทย์ ที่สามารถผลิตได้ในห้องปฏิบัติการจากวัตถุดิบชีวมวลที่เป็นพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ผศ.วินิตา กล่าวว่า มีการศึกษาเทียบเคียงประสิทธิภาพกับของนำเข้า พบว่า เทียบเท่ากันแต่ราคาขายถูกกว่า 1 เท่าตัว โดยราคาที่มหาวิทยาลัยทำนั้นอยู่ราว 7.8-9 หมื่นบาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ของนำเข้าอยู่ที่ 1.2-2 แสนบาทต่อกิโลกรัม
“เม็ดพลาสติกเกรดการแพทย์นี้สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตวัสดุทางการแพทย์ที่ย่อยสลายได้ในร่างกายมนุษย์ เช่น ไหมเย็บแผลที่ละลายได้ ท่อนำเส้นประสาท ตัวควบคุมการปลดปล่อยตัวยาภายในร่างกาย และ เครื่องมือแพทย์ เช่น วัสดุทางทันตกรรม สกรูและแผ่นดาม เป็นต้น โดยปัจจุบัน มีกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นนักวิจัยในประเทศซื้อไปใช้งานแล้ว”
มาตรฐาน-ราคาแข่งได้
ปัจจุบัน ห้องปฏิบัติการผลิตพลาสติกชีวภาพทางการแพทย์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกชีวภาพในเบื้องต้น โดยมีกำลังการผลิต 1 กิโลกรัมต่อครั้งหรือ 120 กิโลกรัมต่อปี โดยในปี 2561 สามารถขายได้กว่า 60 กิโลกรัม และเตรียมที่จะยื่นของบเพื่อซื้อเครื่องมือในการขยายสเกลการผลิตเป็น 10 กิโลกรัมต่อครั้ง
นอกจากนี้ ทีมวิจัยร่วมมือกับทีมแพทย์และสัตวแพทย์ ในการนำเม็ดพลาสติกชีวภาพดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดโดยการขึ้นรูปเป็น “ไหมเย็บแผลที่ละลายได้” ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ในร่างกาย จึงช่วยลดขั้นตอนในการรักษา ทำให้แพทย์ไม่ต้องทำการผ่าตัดซ้ำ ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมและไม่ต้องเจ็บปวดหลายครั้ง
อีกทั้งสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้ 100% คาดว่าจะใช้เวลาอีก 3 ปีในการทดสอบระดับเซลล์ สัตว์ทดลองและทดสอบใช้ในโรงพยาบาลสัตว์ โดยมีเอกชนที่ร่วมวิจัยจะเป็นผู้ทำการตลาด มุ่งสู่ตลาดต่างประเทศ นำร่องในเอเชียทั้งกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนามและเมียนมารวมถึงอินเดียและเกาหลีใต้ ที่เป็นผู้นำด้านวัสดุทางการแพทย์แต่ยังต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกชีวภาพจากยุโรป
ในส่วนการต่อยอดด้านเม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อใช้ทางการแพทย์นั้น ปตท. ที่เข้ามามีบทบาทหลักในการผลักดันผลงานวิจัยของโครงการนี้จากหิ้งไปสู่ห้างให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์จริง อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายขนาดกำลังการผลิตจากโรงงานต้นแบบที่พัฒนาขึ้นมาจาก 4 ฝ่าย ทางกลุ่ม ปตท. ได้อยู่ในระหว่างการศึกษาร่วมกันเพื่อประเมินความสามารถในการขยายขนาดกำลังการผลิตของเรซินเกรดทางการแพทย์ ทั้งในด้านเทคนิค การตลาด รวมทั้งความคุ้มทุนในการผลิตเชิงพาณิชย์อีกด้วย
ที่มา : Bangkokbiznews 24 มกราคม 2562 [http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/824920]