ครั้งแรกของไทยจิสด้าจับมือไบโอเทคเตรียมส่งโปรตีนไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติภายในห้องแล็บคิโบของญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ส่งมอบโปรตีนให้กับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA ณ เมืองสึกุบะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อตรวจสอบคุณภาพของสาร และเตรียมส่งขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) หรือ ISS ภายใต้โครงการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศและการทดลองในอวกาศ National Space Exploration (NSE) ของจิสด้า เพื่อให้ได้ผลึกโปรตีนที่มีความสมบูรณ์มากกว่าบนพื้นโลกสู่การพัฒนายาต้านมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู หัวหน้าโครงการ NSE ของจิสด้า กล่าวว่า งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนและคัดเลือกเพื่อนำไปทดลองในอวกาศในครั้งนี้เป็นงานวิจัยของปี 2561 ที่มีชื่อว่า “การวิเคราะห์การตกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อการพัฒนายาต้านมาลาเรีย" (Protein Crystallization in space for Anti-Malaria Drug Development) จากนักวิจัยของไบโอเทค นำทีมโดย ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ ซึ่งผลงานชิ้นนี้จะถูกนำไปตกผลึกในสภาวะไร้น้ำหนักบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยใช้อุปกรณ์ทดลองภายในโมดูลคิโบ (KIBO) ของ JAXA ซึ่งถือได้ว่าเป็นความพยายามตกผลึกโปรตีนเพื่อรักษาโรคมาลาเรียครั้งแรกของโลกด้วย
"ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ส่งผลงานวิจัยไปทดลองยังสถานีอวกาศนานาชาติ และคาดว่าจะมีการส่งผลงานวิจัยประเภทอื่นๆ ที่ผ่านการคัดเลือกไปทดลองบนอวกาศอีกอย่างแน่นอน เพื่อนำผลที่ได้มาเรียนรู้ พัฒนา ปรับปรุงให้สามารถใช้ประโยชน์ได้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดย จิสด้า และ JAXA มีการประสานความร่วมมือกันอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง เพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์บนอวกาศโดยเฉพาะ ซึ่งก็คือ โมดูลอวกาศ KIBO ที่ติดตั้งอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ภายในประกอบด้วยอุปกรณ์สำหรับการทดลองในอวกาศหลายอย่าง เช่น อุปกรณ์ปลูกผลึก อุปกรณ์เลี้ยงสัตว์น้ำ เตาหลอม เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับการทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น"
"สำหรับการนำส่งโปรตีนในครั้งนี้ จะถูกส่งไปกับจรวดของบริษัท SpaceX เร็วที่สุดภายในเดือนกรกฎาคม 2562 โดยจะเทียบท่า ณ สถานีอวกาศนานาชาติ ISS และนำส่งเข้าสู่ห้องปฏิบัติการอวกาศคิโบของ JAXA ทันที การทดลองตกผลึกโปรตีนในสภาวะไร้น้ำหนักนี้ คาดว่าจะได้ผลึกที่มีความสมบูรณ์มากกว่าทดลองบนโลก และช่วยให้นักวิจัยสามารถทราบข้อมูลของโครงสร้างผลึกโปรตีนได้ชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนายาต้านโรคมาลาเรียชนิดใหม่ที่มีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน" ดร.อัมรินทร์ กล่าว
ทางด้าน ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส ทำหน้าที่ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยของไบโอเทค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการทดลองในครั้งนี้ ทีมวิจัยต้องการปลูกผลึกเอนไซม์โปรตีน DHFR-TS ที่พบในเชื้อ Plasmodium falciparum ซึ่งทำให้เกิดโรคมาลาเรีย โดยจะถูกนำไปตกผลึกในสภาวะไร้น้ำหนักบนสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อวิเคราะห์หาโครงสร้างของผลึกที่สมบูรณ์ โดยการปลูกผลึกในสถานีอวกาศนี้จะให้ผลึกที่มีลักษณะแตกต่างจากการปลูกผลึกบนโลก เนื่องจากไม่มีแรงโน้มถ่วง ซึ่งผลึกที่ปลูกบนอวกาศมักจะมีขนาดใหญ่กว่า สมบูรณ์กว่า และสามารถนำไปพัฒนาเป็นยาต้านมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มร : Manager online 20 กุมภาพันธ์ 2562  [https://mgronline.com/science/detail/9620000017807]