ชีวิตมีหวังเสมอ! นักวิทย์เฮผู้ป่วยเอดส์หายขาดรายที่สองของโลก – วันที่ 5 มี.ค. เดอะซัน รายงานความคืบหน้าครั้งสำคัญในวงการแพทย์ หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือโรคเอดส์ หายขาดเป็นคนที่สองของโลก สร้างความหวังให้กับบรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้ป่วยทั่วโลก ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์เจอร์นัล เนเจอร์
ผู้ป่วยคนดังกล่าวมีสัญชาติอังกฤษและได้รับขนานนามว่า “ลอนดอน เพเชียนต์” ไม่พบว่ามีปริมาณไวรัส หรือไวรัลโหลด ของเอชไอวี ในรอบ 18 เดือน
หลังได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ เพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดในต่อมน้ำเหลือง โดยผู้บริจาคสเต็มเซลล์ดังกล่าวมีการกลายพันธุ์ของยีนส์ทำให้เซลล์มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี
ศาสตราจารย์ราวินทรา กุปตา ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา และนักวิทยาไวรัสเอชไอวี กล่าวว่า “กรณีที่เกิดขึ้นเป็นพัฒนาครั้งสำคัญของวงการแพทย์ ผู้ป่วยไม่มีปริมาณไวรัสเอชไอวีที่ทางทีมแพทย์สามารถตรวจวัดพบได้ ทางทีมแพทย์ตรวจไม่พบอะไรเลย”
กรณีนี้เกิดขึ้นหลังจากนายทีโมธี บราวน์ กลายเป็นผู้ป่วยรายแรกของโลกที่หายขาดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
จึงถูกขนานนามว่า “เบอร์ลิน เพเชียนต์” ปัจจุบันนายบราวน์ยังไม่พบว่ามีเชื้อไวรัสดังกล่าวหวนกลับมาอีก เป็นที่มาของการเรียกผู้ป่วยชาวอังกฤษ ว่าลอนดอน เพเชียนต์
ศ.กุปตา ระบุว่า ผู้ป่วยชาวอังกฤษที่เพิ่งหายขาดนั้นติดเชื้อไวรัสเอชไอวีมาตั้งแต่ปี 2546 ก่อนจะมาตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดในต่อมน้ำเหลืองอีกในปี 2555
ต่อมาในปี 2559 ทางทีมแพทย์พยายามหาผู้บริจาคสเต็มเซลล์เพื่อนำมาปลูกถ่ายในการทดลองรักษาผู้ป่วย โดยมียีนส์กลายพันธุ์รหัส “ซีซีอาร์5 เดลต้า 32”
ผลปรากฎว่า สเต็มเซลล์ดังกล่าวนอกจากช่วยรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองแล้วยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเปลี่ยนสภาพไปมีคุณสมบัติเหมือนกับของผู้บริจาค คือ มีความสามารถต่อต้านไวรัสเอชไอวี สร้างความตื่นเต้นให้กับทีมแพทย์
เพราะการรักษาดังกล่าวถือเป็นความหวังสุดท้ายของผู้ป่วยคนดังกล่าว แม้ผู้ป่วยจะมีอาการสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย (GVHD) ในช่วงแรกก็ตาม
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของทีมแพทย์และนักวิจัยมหาวิทยาลัยยูซีแอล อิมพีเรียล อ๊อกซ์ฟอร์ด และเคมบริดจ์นั้นจะยังไม่ส่งผลใดๆ
ต่อการรักษาผู้ป่วยเอดส์ที่มีอยู่กว่า 37 ล้านคนทั่วโลก เพราะการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวถือว่ามีราคาแพงมาก ซับซ้อน และมีความเสี่ยงสูงมาก ทั้งยังต้องค้นหาผู้บริจาคสเต็มเซลล์ที่มียีนส์กลายพันธุ์เฉพาะ
นางชารอน เลวิน ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันโดเฮอร์ที ประเทศออสเตรเลีย ในฐานะประธานร่วมสมาคมผู้ป่วยเอดส์สากล ระบุว่า แม้จะยังไม่มียารักษาโรคเอดส์โดยตรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งยืนยันว่าความหวังนั้นมีอยู่ และการกำจัดไวรัสเอชไอวีจะเป็นไปได้แน่นอนในอนาคต
ทั้งนี้ โรคเอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome) หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยตรง
แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์สามารถใช้ยาต้านไวรัสที่ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่อย่างปกติ และมีสุขภาพแข็งแรงได้ ท่ามกลางการแข่งขันของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่กำลังคิดค้นวิธีการรักษา
ที่มา : Khaosod online 5 มีนาคม 2562 [https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_2277198]