“การทำวิจัยด้านเคมีอินทรีย์สังเคราะห์” เป็นพื้นฐานสำคัญของจุดเริ่มต้นในการพัฒนาระบบการสังเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้ได้กระบวนการเปลี่ยนสารประกอบอินทรีย์จากธรรมชาติ ไปสู่สารผลิตภัณฑ์อีกชนิดที่มีคุณสมบัติตามต้องการ และเหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์

งานวิจัยดังกล่าวเป็นงานที่ รศ.ดร.ชุติมา คูหากาญจน์ อาจารย์ภาควิชาเคมี และศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กำลังทำอย่างเข้มข้น เช่นเดียวกับนักเคมีจากทั่วโลก
รศ.ดร.ชุติมา อธิบายถึงลักษณะของการทำงานวิจัยประเภทนี้ว่า งานด้านเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ เป็นพื้นฐานในหลายอุตสาหกรรม ทั้งการทำยา เครื่องสำอาง ปิโตรเคมี เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องการผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งสารตั้งต้นที่เป็นเพียงตัวเลือกเดียวอาจไม่ตอบโจทย์นัก เราจึงต้องใช้ทั้งความรู้และจินตนาการ คิดค้นวิธีการในการสร้างสรรค์สารตัวใหม่ให้เกิดขึ้นตลอดเวลาเพื่อนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรม
งานที่ รศ.ดร.ชุติมา ให้ความสนใจเป็นการออกแบบและพัฒนาวิธีการสังเคราะห์ทางเคมีอินทรีย์แบบใหม่ โดยเฉพาะการใช้ปฏิกิริยาออกซิเดชัน ผ่านการเติมหมู่ฟังก์ชันของสารประกอบอินทรีย์ที่ไม่ไวต่อปฏิกิริยาเคมี (เช่น สารประกอบโอเลฟิน) การเปลี่ยนหมู่ฟังก์ชันโดยมีการสูญเสียแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ การเพิ่มหมู่ฟังก์ชันแบบง่าย และการสังเคราะห์โดยการสร้างพันธะแบบต่อเนื่อง
สำหรับวิธีการสังเคราะห์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ มุ่งเน้นไปที่การสังเคราะห์ที่สามารถทำได้ง่าย สะดวก ลดขั้นตอนในการสังเคราะห์ แต่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตัวอย่างผลงานเด่น เช่น การออกแบบสารตั้งต้นให้สามารถเกิดปฏิกิริยาแบบต่อเนื่อง เพื่อให้ได้สารผลิตภัณฑ์ที่มีโครงสร้างซับซ้อนในขั้นตอนเดียว โดยใช้สารที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอย่างไอโอดีนมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาแทนการใช้โลหะหนัก
ประโยชน์ของงานวิจัยนี้นอกจากจะเป็นการสังเคราะห์สารอินทรีย์เคมีตัวใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคตแล้ว ยังช่วยเสริม “ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ” เพราะด้วยกระบวนการนี้ภาคอุตสาหกรรมจะสามารถประหยัดได้ทั้งเวลาและต้นทุนในการดำเนินงาน นอกจากนั้นแล้ววิธีการใหม่นี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly) ด้วย
“อีกคุณประโยชน์สำคัญของการวิจัยสังเคราะห์สารเคมีอินทรีย์ คือ การเตรียมสารตั้งต้นไว้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น สถานการณ์ของ “การดื้อยา” และ “การแพ้ยา” ชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งการเตรียมสารชนิดใหม่ไว้ ก็จะทำให้สามารถสร้างยาตัวใหม่ที่เป็นทางเลือกอื่นๆ ให้กับผู้ป่วยได้”
รศ.ดร.ชุติมา เล่าเพิ่มเติมว่า ลักษณะงานวิจัย เป็นงานวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (Pure science) ที่อาจไม่ได้เห็นประโยชน์เป็นรูปธรรมชัดเจนเหมือนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ แต่สิ่งที่ได้มา คือ “องค์ความรู้ใหม่ของโลก” ที่สร้างไว้เพื่อเป็นพื้นฐานให้นักวิจัยจากทั่วโลกได้นำความรู้นี้ไปต่อยอดเป็นงานวิจัยอื่นเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับโลก

ที่มา : Manager online 25  มีนาคม 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000029845]