ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะผู้ที่ทำงานและมีความรู้ ความเข้าใจในความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชของประเทศไทย เฉพาะ “ด้านเมล็ดพันธุ์และความหลากหลายทางชีวภาพ”

ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ประชาคมโลกกำลังใช้ความสามารถกันอย่างเต็มที่เพื่อหาทางรักษา ควบคุมและป้องกันเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (Corona Virus Disease 2019) ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเหล่านั้นที่ทีมแพทย์และหน่วยงานของรัฐพยายามอย่างหนักในการป้องกันและควบคุม
ซึ่งก็ต้องขอขอบพระคุณรัฐบาลของประเทศไทยที่ทำงานได้เป็นอย่างดีในการออกมาตรการต่างๆ ทำให้การระบาดอยู่ในทิศทางที่ควบคุมได้ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าหลายๆ ประเทศ และที่สำคัญที่ต้องขอขอบพระคุณมากที่สุดคือ ประชาชนคนไทยทุกๆ คนที่เคารพและให้ความร่วมมือ เพื่อที่จะผ่านปัญหานี้ไปด้วยกัน เพราะหากรัฐบาลออกมาตรการมา แต่คนในประเทศไม่ทำ ทุกอย่างก็จบ ฉะนั้นการชนะโรคนี้เราต้องชนะไปด้วยกัน
แต่ในขณะที่คนไทยทั้งประเทศพยายามมีส่วนร่วมในการช่วยป้องกันโรค โดยการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” หลายคนกลับได้ยินข่าว หรือคำแปลกๆ คำหนึ่งคือ “CPTPP”คำว่า “CPTPP” คืออะไร?
หากเป็นคนทั่วไปหรือเกษตรกรคงไม่คุ้นเคยมากนัก ; CPTPP มาจากคำว่า Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership คือ “ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก”
ซึ่ง CPTPP มีแนวคิดการปรับปรุงข้อตกลงเดิมของ TPP (Trans-Pacific Partnership) ที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ.2549 โดย TPP “ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” มีสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก TPP
เมื่อปี พ.ศ.2560 สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกจากสมาชิก TPP ทำให้เหลือสมาชิก 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม จึงได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น CPTPP และพยายามเพิ่มเติมสมาชิกเพื่อให้มีอำนาจต่อรองในวงกว้างมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและพยายามเบื้องต้นคือ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยพยายามจะเข้าเป็นสมาชิกของ CPTPP โดยมองว่าหากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP จะเป็นโอกาสของไทย เนื่องจากมีประชากรในประเทศสมาชิกรวมกันกว่า 500 ล้านคน และมี GDP กว่า 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ประชาชาติธุระกิจออนไลน์, 2563) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น โดยมีการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท สินค้าต่างๆ มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น
แต่หากไทยไม่เข้า CPTPP จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตลดลง การจ้างงานและผลตอบแทนแรงงานจะลดลง 8,440 ล้านบาท (ไทยรัฐออนไลน์, 2563)
CPTPP ประเทศไทยมีแต่ “ได้” ไม่มี “เสีย” จริงหรือ?!
ในมุมมองบางท่านของรัฐบาลอาจเห็นว่า “ได้” เพราะมีมูลค่าทางตลาดเยอะ โดยเป็นการเปิดตลาดเพิ่มให้ไทยได้มากกว่า FTA (Free Trade Agreement) เดิม ซึ่งในปัจจุบันมีสินค้า เช่น เนื้อไก่สด/แช่แข็ง อาหารทะเลปรุงแต่ง ข้าว ข้าวสาลี ยางรถยนต์ รถยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม เมล็ดพันธุ์ และผลไม้สด/แห้ง เป็นต้น และเป็นการยกระดับกฎระเบียบให้เป็นสากลมากขึ้น จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนจากต่างชาติและนักลงทุนไทย ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น
แต่ในมุมมองของเกษตรกรและภาคส่วนของประชาชนที่ทำการเกษตรแบบหาเช้ากินค่ำ คงไม่สามารถเข้าถึง และไม่เข้าใจกับมูลค่าเงินมากมายขนาด 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีเพียงคำถามเดียวที่ว่า แล้วเราต้อง “เสีย” อะไรบ้าง?
เกษตรกรต้องซื้อปัจจัยการผลิตต่างๆ จากต่างประเทศทั้งหมดเปล่า? เมล็ดหรือกิ่งพันธุ์พืชต่างๆ ที่ปลูกอยู่ (Open pollination) ไม่สามารถเก็บปลูกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ปาล์ม ถั่ว พริก มันสำปะหลัง มะม่วง หรืออื่นๆ อีกมากจริงหรือไม่?
เพราะมองว่าหากไทยเข้าร่วม CPTPP จะทำให้เกษตรกรไทยต้องเผชิญต่อความเสี่ยงที่เพิ่มต้นทุนการเกษตรที่สูงขึ้น จากอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ “UPOV 1991 (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants)”
และอาจจะเปิดโอกาสให้ต่างชาตินำเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองของไทยไปวิจัยพัฒนา และเกิดการจดสิทธิบัตร ส่งผลทำให้เกษตรกรไทยต้องซื้อเมล็ดพันธุ์/กิ่งพันธุ์ในราคาที่สูงขึ้น เพราะในข้อกำหนดของ UPOV 1991 มีรายละเอียดและข้อกำหนดที่สอดแทรกโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่เกี่ยวข้องกับการจำหนายสารเคมีและบริษัทเมล็ดเมล็ดพันธุ์ เช่น การคุ้มครองพันธุ์พืช หรือ Plant Varieties Protection
โดยข้อกำหนดเบื้องต้นของ UPOV 1991 คือ ให้สิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืช (บริษัทเมล็ดพันธุ์) หรือ Plant Breeder’s Right และเกษตรกรมีสิทธิในการผลิต ขาย จ่าย แจก เมล็ดพันธุ์ (หรือส่วนขยายพันธุ์) แต่หลังจากนั้น จะจํากัดสิทธิดังกล่าวให้เหลือน้อยลงเป็นลำดับ และท้ายที่สุดคือ ห้ามเกษตรกรในประเทศสมาชิก UPOV 1991 เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ (seed preservation) เพื่อปลูกต่อในรุ่นถัดไป ซึ่งจะส่งผลแต่เกษตรกรเข้าถึงพันธุ์พืชได้ยากขึ้นกว่าปัจจุบัน ภายใต้ข้อจํากัดของสิทธิเกษตรและการขยายสิทธิของบริษัทเมล็ดพันธุ์ ส่งผลให้เมล็ดพันธุ์พืชที่ผลิตใหม่มีราคาแพงขึ้นประมาณ 3-4 เท่า
ลองคิดดูนะครับ ตอนนี้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานที่เกษตรกรเก็บและปลูกเอง เมล็ดพันธุ์โอพี (Open pollination) ราคากิโลกรัมละ 30-50 บาท เมล็ดพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 (F1 hybrids) กิโลกรัมละ 700-800 บาท แล้วหากเพิ่มต้นทุนให้เกษตรกรอีก 3-4 เท่าตัว โดยเป็นเมล็ดพันธุ์กิโลกรัมละ 2,000-3,000 บาท และผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องซื้อข้าวโพดต้มตามตลาดเปิดท้ายกินกันจากราคาฝักละ 10-15 บาท เป็นฝักละ 40-50 บาท มันแพงไปไหม? นี่แค่เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดหวานนะครับหรือหากเรากินกระเจี๊ยบเขียว หรือทุเรียน แล้วโยนเมล็ดไปข้างบ้าน หลังจากนั้นกระเจี๊ยบเขียวและทุเรียนงอกและติดผลออกมา เมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบเขียวหรือทุเรียนนั้นผิดกฎหมายหรือเปล่า?
ยังมีเมล็ดพันธุ์พืชและส่วนขยายพันธุ์อีกมากมายที่อาจได้รับผลกระทบ และที่สำคัญที่ผมยังมีคำถามคาใจอยู่อีกหนึ่งคำถามคือ...
แล้ว “ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชพื้นบ้านของไทย” ล่ะ จะโดนหางเลขไปด้วยเปล่า?!
นี่เป็นแค่มุมมองของความหลากหลายทางชีวภาพด้านเมล็ดพันธุ์เท่านั้น ยังไม่ได้วิเคราะห์ในมิติด้านอื่นๆ
ดังนั้น การเข้า CPTPP อาจจะ “ดี” หรือ “ไม่ดี” ก็ได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงในการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP เพราะหากเป็นมุมบวกประเทศไทยคงมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก
แต่ถ้าหากมุมลบล่ะ “เราจะเจ็บ แต่เราไม่จบนะ”!!
ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย รักประเทศไทย และไม่เคยเสียใจที่เป็นคนไทย “ผมรักประเทศไทย”?!?!
อ้างอิงข้อมูล

- ไทยรัฐออนไลน์. 2563. รู้จัก CPTPP คืออะไร ใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ ทำไมหลายคน แม้กระทั่งคนฝั่งรัฐบาลถึงออกมาคัดค้าน. 27 เม.ย.2563.
- ประชาชาติธุระกิจออนไลน์. 2563. ทำความรู้จัก CPTPP วิเคราะห์ “โอกาส” และ “ความท้าทาย”. 27 เม.ย.2563.
- สรพงค์ เบญจศรี และสมัคร แก้วสุกแสง. 2553. เกษตรอินทรีย์และมาตรฐานการส่งออกของประเทศไทย.
วารสารแก่นเกษตร. 38 (2) : 179-186.
- สรพงค์ เบญจศรี. 2553. เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย. วารสารมหาวิทยาลัยทักษิณ. 13(1): 78-88.

ที่มา  : Manager online 28 เมษายน 2563 [https://mgronline.com/south/detail/9630000044415]