พัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจช่วยผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี จับมือ มจธ. วิจัยพัฒนาวัสดุฉลาดเพื่องานทางการแพทย์ พัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยในการเจาะผนังกั้นหัวใจห้องบน เพื่อลดความดันภายในหัวใจห้องบนซ้าย ซึ่งช่วยลดภาระการทำงานของหัวใจ
รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. หัวหน้าห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการวัสดุฉลาด มีความร่วมมือกับทางคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ในการพัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจห้องบนจากวัสดุฉลาด โดยมีทีมของรามาธิบดีคือ อาจารย์ นพ.กฤษฎา มีมุข และ รศ.นพ.ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ อาจารย์สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้ร่วมให้ความเห็นและร่วมพัฒนา
จนกระทั่งปัจจุบันทีมวิจัยสามารถออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายผนังหัวใจ ที่จะช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว เนื่องจากแนวทางการรักษาจะทำการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาขยายหลอดเลือด, การให้ยาช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ, การให้ยาลดอาการบวมน้ำ และการผ่าตัด วิธีการรักษาในแบบต่างๆ อาจมีผลกระทบทำให้ระบบภายในร่างกายทำงานหนักขึ้น รวมถึงผลกระทบจากการผ่าตัด อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลง
ทางคณะวิจัยจึงมีแนวคิดที่จะใช้อุปกรณ์ช่วยในการเจาะผนังกั้นหัวใจห้องบน เพื่อลดความดันภายในหัวใจห้องบนซ้าย ซึ่งช่วยลดภาระการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจของผู้ป่วยสูบฉีดเลือดได้สะดวกและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยอุปกรณ์นี้ชื่อ Atrial Flow Regulator (AFR) หรือ Interatrial Shunt Device (IASD) เป็นอุปกรณ์ที่ผลิตจากวัสดุผสมจำรูป ซึ่งทำมาจากโลหะผสมระหว่างนิกเกิล-ไทเทเนียม ที่มีความสามารถจดจำรูปร่างและคืนรูปได้ และมีความยืดหยุ่นสูง จึงสามารถติดตั้งผ่านสายสวนที่มีขนาดเล็กๆ ได้ ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดใหญ่และช่วยให้ ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวจากการรักษาได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิดทรวงอก

ที่มา : Manager online 02 พ.ค.62 [https://mgronline.com/science/detail/9620000042577]