จิสด้าสนับสนุนเทคโนโลยีจากดาวเทียม ร่วมบูรณาการทุกภาคส่วนแก้ปัญหาผักตบชวาขวางทางน้ำ
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนการแก้ปัญหาผักตบชวาที่จะเกิดขึ้น ในช่วงฤดูฝนที่ย่างเข้ามา เพื่อเปิดทางระบายน้ำในแม่น้ำสายหลักและสายรอง
นายอนุสรณ์ รังสิพานิช รักษาการ นักภูมิสารสนเทศเชี่ยวชาญพิเศษของจิสด้า กล่าวว่า ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลายของเทคโนโลยีจากดาวเทียม สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์และบริหารจัดการผักตบชวาได้ ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติเฉพาะของดาวเทียมหลากหลายดวง เช่น ดาวเทียวไทยโชต ดาวเทียม Sentinel-2 หรือ ดาวเทียม Landsat-8
ดาวเทียมเหล่านี้สามารถใช้ทดแทนหรือเสริม ในช่วงเวลาที่ต้องการจะทราบลักษณะการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากดาวเทียมแต่ละดวง มีรอบระยะเวลาการถ่ายภาพซ้ำที่เดิม และรายละเอียดภาพที่แตกต่างกัน สามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมและกว้าง ติดตามสถานการณ์ได้หลายช่วงเวลา
ข้อมูลของดาวเทียมที่ใช้ต่างก็มีคุณสมบัติในการให้ค่าสะท้อนของพืชพรรณได้ดี ทั้ง Near Infrared และ Shortwave Infrared ซึ่งจะเหมาะสำหรับใช้ในการสำรวจ ติดตามสถานการณ์ผักตบชวาในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่มีการเคลื่อนที่ และกองสะสมตามลำน้ำ หรือที่มีการกำจัดไปแล้ว โดยในปัจจุบันเทคโนโลยีนี้มีการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายทั้งในด้าน ป่าไม้ เกษตร ทะเลและชายฝั่งอีกด้วย
นายอนุสรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากวิเคราะห์ผักตบชวาด้วยภายถ่ายจากดาวเทียมแล้ว จิสด้าจะส่งข้อมูลรายงานการสำรวจจากภาพถ่ายดาวเทียมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า รวมไปถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อนำไปวางแผนการกำจัดและบริหารจัดการเชิงพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาผักตบชวากีดขวางการระบายของน้ำและบรรเทาปัญหาน้ำล้นตลิ่ง
"ที่ผ่านมาจิสด้าใช้ดาวเทียมในการชี้เป้าพื้นที่ที่พบผักตบชวาไปแล้วจำนวน 25 จุด และได้ทำการชี้เป้าเพิ่มเติมโดยเชื่อมโยงแหล่งน้ำทั้งสายหลักและสายรองในลุ่มน้ำภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน 19 จังหวัดอีก 128 จุด ในอนาคตจะใช้ดาวเทียมรายละเอียดสูงเพื่อชี้เป้าให้ครอบคลุมทั้งประเทศ" นายอนุสรณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีจากดาวเทียมและนวัตกรรมด้านภูมิสารสนเทศ นอกจากจะช่วยประหยัดเวลาในการทำงานและบุคคลากรที่จะต้องลงไปสำรวจพื้นที่แล้ว จะเห็นได้ว่าการบูรณาการร่วมกันจากหลายภาคส่วนจะช่วยกันกำจัดผักตบชวาได้ก็จริงอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องทำควบคู่กันไปด้วยก็คือการสร้างทัศนคติและจิตสำนึกให้กับชุมชนและประชาชนในพื้นที่ หรือที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำนั้นๆ ให้รู้จักหวงแหนและร่วมมือกันดูแลแหล่งน้ำซึ่งก็จะช่วยลดปัญหาผักตบชวาได้
ที่มา : [https://mgronline.com/science/detail/9630000053416]